กรุงเทพฯ 16 เม.ย. – กรมประมงเดินหน้าแผนฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำหายาก ตั้งเป้าเพาะขยายพันธุ์ทั้งสัตว์น้ำจืดและทะเลรวม 39 ชนิด ล่าสุดประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ “ฉลามกบ” เพื่อปล่อยยังแหล่งปะการังเทียมในจ. ระยอง
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ได้ปล่อยลูกฉลามกบสู่ธรรมชาติแล้ว 60 ตัวจากที่ตั้งเป้าหมายในปีนี้ 100 ตัว โดยเกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อ-แม่พันธุ์ที่ถูกรวบรวมจากธรรมชาติตั้งแต่ปี 2563 และเพาะขยายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยอง ลูกฉลามกบที่ปล่อยมีอายุ 60 วัน ยาว 15 – 18 เซนติเมตร เป็นเพศผู้29 ตัวและเพศเมีย 11 ตัว ปล่อยบริเวณเกาะมันนอก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อีกทั้งมีแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ของกรมประมงซึ่งเป็นที่หลบภัยได้ดี คุณภาพน้ำดี และมีการพบปลาฉลามกบอาศัยอยู่ทำให้บริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมและปลอดภัย เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศ
“ฉลาม”จัดเป็นสัตว์น้ำที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากการมีอยู่ของฉลามเป็นหลักประกันความสมดุล
ของโครงสร้างประชากรปลาทะเลเพราะในฐานะนักล่าลำดับสูงสุดฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้าป่วยหรือใกล้หมดอายุตามวัยช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาอื่น ๆ ให้แข็งแรงรักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อาศัย ขณะเดียวกันยังควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองๆ ลงมาให้สามารถแบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมซึ่งความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตนี่เองที่ทำให้ท้องทะเลมีชีวิตชีวาและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชื่นชมความงามของโลกใต้ท้องทะเล
นายธนัช ศรีคุ้ม ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยองกล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาฉลามกบ เป็นฉลามที่อาศัยบริเวณพื้นท้องทะเลที่เป็นทรายหรือทรายปนโคลนตามชายฝั่งทะเล และกองหินใต้น้ำตามแนวปะการัง ในเขตน่านน้ำไทยสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีพฤติกรรมชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ดุร้าย กินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ลูกปลาฉลามกบ โดยเลี้ยงในบ่อเพาะฟัก และนำไข่ที่ได้จากการฟักของพ่อ-แม่พันธุ์แยกไว้ในตะกร้าโดยวางไข่กระจายออกจากกันไม่ให้เกิดการทับซ้อนเพื่อง่ายต่อการดูแลและป้องกันการเน่าเสีย
สำหรับขั้นตอนการฟักไข่จะต้องทำความสะอาดและตรวจสอบไข่เป็นประจำทุกวันเพื่อแยกไข่เสีย ในขณะเดียวกันต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ทั้งอุณหภูมิ ความเค็ม และความเป็นกรดด่างของน้ำที่ใช้ระหว่างขั้นตอนการฟักไข่ และเมื่อลูกปลาฉลามฟักออกจากไข่แล้ว จะนำไปแยกเลี้ยงในบ่ออนุบาล โดยฝึกให้กินอาหารมีชีวิต เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เพื่อให้แน่ใจว่าลูกปลาฉลามเหล่านี้สามารถหาอาหารกินเองได้ในธรรมชาติก่อนปล่อยลูกปลาฉลามกบคืนสู่ธรรมชาติ. – สำนักข่าวไทย