กรุงเทพฯ 25 ส.ค. – รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำส่วนเกินจากฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศ สู่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งพื้นที่เกษตรต้องการน้ำ ส่วนน้ำที่ไหลลงเขื่อนให้เก็บกักไว้มากที่สุด ด้านอธิบดีกรมชลประทานเร่งจำกัดภาวะน้ำหลากโดยเฉพาะน่าน สุโขทัย และร้อยเอ็ด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทานรายงานสถานการณ์อุทกภัยว่า เกิดขึ้น 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ น่าน สุโขทัย ร้อยเอ็ด และสกลนคร จึงสั่งการให้เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรออกจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ กำชับให้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยน้ำที่ไหลลงเขื่อนตอนบนของประเทศให้เก็บกักไว้ใช้จนถึงฤดูแล้ง ส่วนน้ำที่ท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนให้ระบายลงสู่ลำน้ำธรรมชาติแล้วบริหารจัดการเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อส่งน้ำไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรลุ่มเจ้าพระยาที่ยังขาดน้ำ นอกจากนี้ ยังให้เตรียมทุ่งบางระกำ ซึ่งเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้วให้พร้อมรับน้ำหลาก หากมีฝนตกหนักอีก ซึ่งการบริหารจัดการรูปแบบบางระกำโมเดลนั้น สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยได้เป็นอย่างดีตั้งแต่จัดทำขึ้นมา
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ จ.แม่ฮ่องสอนว่า ยังมีอุทกภัย 4 อำเภอ คือ อ.เมือง น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมทางเข้าสถานปฏิบัติธรรมวัดป่าถ้ำวัวบ้านแม่สุยะ ต.ห้วยผา รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ และลำน้ำปายเอ่อท่วมพืชผลทางการเกษตรบ้านสบสอย หมู่ที่ 7 ต.ปางหมูเป็นรอบที่ 2 และหลากเข้าอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ อ.ปางมะผ้า น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ติดลำน้ำบริเวณบ้านไม้ซางหนาม หมู่ที่ 7 ต.นาป้อม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์เขตสันปันแดน ต.นาปูป้อม อ. แม่ลาน้อย ลำน้ำแม่ลาหลวงได้เพิ่มขึ้นและล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวหลายพื้นที่ และ อ.ขุนยวม น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพืชผลทางการเกษตรติดกับลำน้ำ ต.เมืองปอน แม่เงา และขุนยวม จ.ลำพูน เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำแม่ขนาด สาขาแม่น้ำทา พัดพาเศษไม้ไผ่ ติดกีดขวางทางน้ำที่หน้าสะพานเหนือฝายทุ่งโปร่ง ซึ่งโครงการชลประทานลำพูนนำรถแบคโฮเข้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง ระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง จ.แพร่ น้ำจากลำห้วยแม่สาย-แม่ก๋อนหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรในหมู่บ้านป่าแดง หมู่ที่ 3 และ 5 ต.ป่าแดง อ.เมือง และมีน้ำท่วมขัง อ.วังชิ้น แต่แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ จ.น่าน ฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ต่าง ๆ 3 อำเภอ ได้แก่ อ. เฉลิมเกียรติ โดย ต.ขุนน่าน ดินสไลด์ปิดทับผิวทางจราจร รถไม่สามารถผ่าน เส้นทางหมายเลข 1081 – 0103 บ่อเกลือ – เฉลิมเกียรติ กม. 112+350 – 112+975 อ. เมืองมีน้ำหลากต. สวก หมู่ที่ 5 7 11 และ 13 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 60 ครัวเรือน อ.ภูเพียง ต.เมืองจัง บ้านเมืองหลวง หมู่ที่ 5 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 3 ครัวเรือน อ.เวียงสา ในพื้นที่ลุ่มต่ำมาก ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 3.45 เมตร
ส่วน จ.สุโขทัยระดับแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มสูง ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง 3 อำเภอได้แก่ อ.สวรรคโลก ระดับน้ำยมเกินเกณฑ์ระดับควบคุม 1.10 เมตร จุดที่ 1 ด้านเหนือประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ น้ำล้นคันตลิ่งแม่น้ำยม หมู่ 3 ต.ป่ากุมเกาะ 350 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 9 หมู่บ้าน 1,019 ครัวเรือน จุดที่ 2 คันแม่น้ำยมฝั่งขวาขาดบริเวณ หมู่ที่ 7 ต. คลองกระจง ยาวประมาณ 20 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 6 หมู่บ้าน อ.ศรีสำโรง เกิดคันดินขาด 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณคอสะพานฝั่งขวาเข้าท่วมพื้นที่ ต.วัดเกาะ ไม่สามารถสัญจรได้ จุดที่ 2 คันแม่น้ำยมฝั่งซ้ายขาดบริเวณซอยหลังวัดโสภาราม ต. สามเรือน ยาวประมาณ 20 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 1 หมู่บ้าน 180 ครัวเรือน
อ.เมือง มีคันดินขาด 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 คันดินแม่น้ำยมฝั่งขวาขาดบริเวณ หมู่ที่ 1 ต. ปากแควขยายเพิ่มขึ้น จาก 20 เมตร เป็น 50 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 2 หมู่บ้าน 513 ครัวเรือน และจุดที่ 2 คันดินแม่น้ำยมฝั่งซ้ายขาดบริเวณ หมู่ที่ 6 ต.ปากพระขยายเพิ่มขึ้นจาก 5 เมตรเป็น 15 เมตร บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 3 ตำบล 1,200 ครัวเรือน ทางโครงการชลประทานสุโขทัยควบคุมปริมาณน้ำด้านหน้าปตร.หาดสะพานจันทร์ให้ระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักไม่เกิน 720 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ระบายน้ำออกตามคลองที่เชื่อมที่เชื่อมกับแม่น้ำยมตั้งแต่อ.สวรรคโลกถึงอ.เมือง รวมประมาณ 170 ลบ.ม./วินาที โดยความจุของแม่น้ำยมซึ่งผ่านตัวเมืองอยู่ที่ 550 ลบ.ม./วินาที จึงมั่นใจได้ว่า น้ำจะไม่ท่วมตัวเมืองสุโขทัยแน่นอน
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ร้อยเอ็ดฝนตกหนักในเขตลุ่มน้ำยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์และลุ่มน้ำยังตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำยังตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นและมีน้ำท่วม อ.เสลภูมิ รวม 7 ตำบล พื้นที่ 9,450 ไร่ โครงการชลประทานร้อยเอ็ดบริหารจัดการโดยวางแผนตัดยอดระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำในระบบสามารถตัดยอดระบายน้ำสูงสุดได้รวม 40 ลบ.ม./วินาที และสามารถนำเข้าไปเก็บในแก้มลิง 3 แห่งได้แก่ บึงบ่อแก บึงเกลือ และกุดปลาคูณ จึงเรียงหินป้องกันการกัดเซาะจากการตัดยอดน้ำด้านท้ายน้ำ บูรณาการจัดจราจรน้ำชี-น้ำยัง ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 โดยการเปิดบานระบายน้ำพร่องน้ำในเขื่อนยโสธรและเขื่อนธาตุน้อยไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลมาสมทบจากน้ำยังตอนบนด้วย
จ. สกลนคร อิทธิพลของพายุฮีโกสทำให้เกิดฝนตกหนัก จนน้ำไหลหลาก อ.ส่องดาว สว่างแดนดิน และวาริชภูมิ ทำให้ลำน้ำยามและห้วยปลาหางที่เป็นลำห้วยรับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรหลายหมู่บ้าน ขณะนี้เหลือพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 200 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โครงการชลประทานสกลนคร ใช้เครื่องจักรขุดคันดินคลอง LMC ช่วง กม.2+500 เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 3 เครื่องและเปิดประตูระบายน้ำโครงการห้วยปลาหางตอนล่าง 3 บาน คาดว่า สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติใน 1-2 วันนี้.-สำนักข่าวไทย