กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – รมว.เกษตรฯ เผยผลหารือผู้ประกอบการผลไม้ ย้ำ Fruit Board ดำเนิน 3 มาตรการหลักบริหารจัดการผลไม้ ยกระดับมาตรฐานผลผลิต พร้อมกำหนดแผนรับมือผลผลิต 4 ชนิดพุ่ง 22%
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจัดกิจกรรมนายกรัฐมนตรีพบปะผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า เพื่อเตรียมรับมือผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2568 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งยกระดับคุณภาพผลผลิต และควบคุมมาตรฐานผ่านคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ด้วย 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่
- ยกระดับคุณภาพผลผลิต สนับสนุนเกษตรกรผลิตผลไม้ตามมาตรฐาน GAP พร้อมบริหารจัดการธาตุอาหาร น้ำ โรค และศัตรูพืช
- ควบคุมสุขอนามัยพืชตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่แปลงผลิตถึงล้งและกระบวนการส่งออก พร้อมกระจายช่วงเวลาผลผลิตออกตลาดเพื่อลดความแออัด
- บูรณาการตลาดผลไม้ ทำงานร่วมทุกภาคส่วน ภายใต้ 7 มาตรการ 25 แผนงาน พร้อมติดตามความเสี่ยง ควบคุมผลผลิต ป้องกันการสวมสิทธิ์ และสุ่มตรวจคุณภาพอย่างเข้มข้น
พร้อมกันนี้ ได้กำหนด 5 แนวทางเสริมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. กระจายผลผลิตลดความแออัดตลาด 2. ตั้งจุดตรวจทุเรียนก่อนตัด 3. ส่งเสริมแปลงใหญ่-สหกรณ์ควบคุมคุณภาพ 4. แปรรูปผลไม้ตกเกรดเพิ่มมูลค่า และ 5. เปิดช่องทางตลาดใหม่ผ่าน e-Commerce


ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขาคณะกรรมการ Fruit Board เปิดเผยว่า ปี 2568 คาดว่าปริมาณผลไม้หลัก 4 ชนิด ได้แก่ ลำไย มะม่วง ทุเรียน และมังคุด จะเพิ่มขึ้นรวม 3.4 ล้านตัน หรือร้อยละ 22 จากปีก่อน เนื่องจากปีก่อนต้นไม้ได้พักตัวและปีนี้อากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล
โดยทุเรียนมีปริมาณมากสุดรวมกว่า 1.57 ล้านตัน แบ่งเป็นภาคตะวันออก 8.71 แสนตัน ออกมากที่สุดเดือน พ.ค.–มิ.ย. และภาคใต้ 7 แสนตัน ออกมากสุดเดือน ก.ค.–ส.ค. ลำไยภาคเหนือมี 1.64 ล้านตัน ออกตลาดมากสุด ส.ค.–ก.ย. ขณะที่ภาคตะวันออก 2.1 แสนตัน มะม่วงภาคเหนือ 1.08 แสนตัน ออกตลาด เม.ย.–พ.ค. ภาคตะวันออก 3.3 หมื่นตัน มังคุดภาคตะวันออก 2.58 แสนตัน และภาคใต้ 1.47 แสนตัน ออกสู่ตลาดระหว่าง พ.ค.–ส.ค. ตามลำดับ. -512-สำนักข่าวไทย