กรุงเทพฯ 30 ธ.ค. – รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุจะเริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า ในช่วงต้นปี 2568 โดยวัคซีนชุดแรกที่สั่งจากต่างประเทศจะมาถึงไทยในเดือนเมษายน 68 ชี้ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องควบคู่กันไปกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ย้ำนโยบาย “ช้างป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้”
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะเดินหน้าโครงการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิดอย่างแน่นอนในต้นปี 2568 โดยวัคซีนชุดแรกที่สั่งจากต่างประเทศจะส่งมาถึงไทยในเดือนเมษายน
จากการหารือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน สภาผู้แทนราษฎร กมธ. เสนอให้ใช้วัคซีนในการคุมกำเนิดช้างป่าเพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมจำนวนประชากรช้างป่า และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับช้างป่า การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ได้มอบหมายและสั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาช้างออกนอกป่าที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า โดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ซึ่งมีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว
ทั้งนี้ ได้ทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างบ้านเพศเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 มีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็ม จะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปี และวัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรมและสรีระของช้าง เป็นเพียงควบคุมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูก
ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่องเพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า
โครงการนี้จะนำร่องในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรช้างป่าที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุด และกำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงมากจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาช้างออกนอกป่าทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ใช้หลายมาตรการควบคู่กันไป ทั้งการสร้างแหล่งอาหารในป่าเพื่อดึงช้างกลับป่า การสร้างแนวป้องกันช้าง การนำเทคโนโลยีมาติดตามการเคลื่อนที่ของโขลงช้าง การปฏิบัติงานของชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า แต่เนื่องจากประชากรช้างป่ามีมากกว่าศักยภาพของพื้นที่ป่าจะรองรับได้ จึงตัดสินใจให้ใช้วัคซีนคุมกำเนิดเพื่อลดอัตราการเกิด
พร้อมกันนี้ย้ำว่าความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องทำควบคู่กันไปกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยยึดมั่นในแนวทาง “ช้างป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้”.-512-สำนักข่าวไทย