กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – กรมชลประทานระบุ เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 67 รองรับทั้งภาวะฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิ.ย. – กลางเดือนก.ค. ขณะเดียวกันเตรียมรับฝนตกชุกปลายฤดู เร่งเก็บกักน้ำต้นทุน สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเตรียมแปลงปลูกข้าวนาปี
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานร่วมกับนางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาแถลงถึงสถานการณ์น้ำในฤดูฝนและแผนบริหารจัดการน้ำ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ขณะนี้สภาวะเอลนีโญอ่อนกำลังลงและจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางในเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญากำลังอ่อนในเดือนกรกฎาคมซึ่งมีความน่าจะเป็นถึงร้อยละ 69 ดังนั้นช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมอาจมีฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ แต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและตกชุกหนาแน่นบางพื้นที่ต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2567 นอกจากนี้ยังคาดหมายว่า ประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 – 2 ลูก โดยปริมาณฝนรวมในฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับค่าปกติ
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกัก รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกำหนดบุคลากร กำหนดพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและระบบสื่อสารประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้กรมชลประทานพร้อมรับทั้งภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกชุกหนาแน่น โดยจะบริหารจัดการน้ำอย่างประณีตรัดกุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนเน้นการเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป
นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ไว้ทั้งสิ้น 24,985 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 8,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ปัจจุบันสิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่า ทั้งประเทศมีการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 23,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนที่วางไว้ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำรวมประมาณ 8,586 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนที่วางไว้
ทั้งนี้พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างเพียงพอ โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,765 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 34,572 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักประกอบด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,256 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกกว่า 13,615 ล้าน ลบ.ม.
พร้อมกันนี้ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้า ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรที่จะเพาะปลูกข้าวนาปีให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยรอให้ฝนตกสม่ำเสมอก่อนจึงค่อยเตรียมแปลงเพาะปลูก แล้วใช้น้ำชลประทานเสริม
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่า สถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำปีนี้ จะไม่เหมือนปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ซึ่งในปี 2554 นั้น ฝนตกชุกหนาแน่นตั้งแต่ต้นฤดู อีกทั้งปัจจุบันกรมชลประทานมีมาตรการและเครื่องมือต่างๆ ที่จะบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำ รวมทั้งวางแผนป้องกันอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด. 512 – สำนักข่าวไทย