กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยอีก 1 สัปดาห์จะเริ่มโครงการตัดวงจรลูกหมู โดยนำมาทำหมูหัน เฉลี่ยวันละ 5,000 ตัว เพื่อลดจำนวนหมูขุนเข้าเชือด ตามมติพิกบอร์ด หวังดึงราคาหมูหน้าฟาร์มให้สูงกว่าต้นทุน ระหว่างนี้กำลังจัดสรรโควตาและขั้นตอนการจ่ายเงินชดเชยให้โปร่งใส ยืนยันพอใจมาตรการของภาครัฐในการแก้ปัญหาหมูเถื่อนและรักษาเสถียรภาพราคา ช่วยเหลือผู้เลี้ยงทั่วประเทศ
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า โครงการลดจำนวนลูกสุกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต ด้วยการนำไปทำหมูหันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกรตามมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) จะเริ่มในวันที่ 11 มีนาคม 2567 นี้ โดยหวังว่า จะดึงราคาสุกรขุนให้ปรับสูงขึ้นกว่าต้นทุน ระหว่างนี้กำลังจัดสรรโควตาและกำหนดขั้นตอนการชดเชยแก่ผู้เลี้ยงให้เกิดความโปร่งใส
สำหรับจำนวนลูกสุกรขนาด 3-7 กิโลกรัมที่จะตัดวงจรการเข้าขุนกำหนดไว้ 450,000 ตัวในระยะเวลา 90 วันหรือเฉลี่ย 5,000 ตัวต่อวันซึ่งจะเป็นการลดจำนวนสุกรขุนเข้าเชือดในแต่ละวัน จากปัจจุบันเฉลี่ย 55,000 ตัวต่อวัน หากเป็นส่วนหนึ่งที่ยกระดับราคาสุกรขุนในประเทศให้ปรับตัวขึ้นเกินกว่าต้นทุนซึ่งเฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัมได้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศประสบสภาวะขาดทุนมาร่วม 1 ปี
ในการประชุมระหว่างกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กลุ่มผู้จำหน่ายปลีกร้านหมู หรือ PORK SHOP เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบให้ยืนราคา ทั้งราคา Big Lot หรือรถใหญ่ คละขนาดที่ 66 บาทต่อกิโลกรัม โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ราคานี้เป็นฐานในการบวกเพิ่ม ตามความเหมาะสมทั้งคุณภาพซากและระยะทางของแต่ละพื้นที่ แต่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มวันนี้ (วันพระที่ 3 มีนาคม 2567) ราคารถใหญ่คละขนาดยังคงอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาหน้าโรงชำแหละกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นเกณฑ์ตั้งต้นให้บวกเพิ่มตามคุณภาพซากที่จำหน่ายจริง
การประชุมดังกล่าว มุ่งหวังที่จะเห็นการไต่ราคาขึ้นทั้งราคาสุกรหน้าฟาร์มและราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรส่วนเนื้อแดงอยู่ในช่วงที่ 150-155 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งจะสะท้อนกลับมา ณ ราคาตามต้นทุนของฟาร์มที่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรมปศุสัตว์จะเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรที่ไม่ให้ความร่วมมือในการยืนราคาที่กำหนดให้ขายส่วนสะโพกและหัวไหล่ไม่ต่ำกว่า 118 บาท โดยหากพบขายต่ำกว่าราคาที่กำหนดให้แจ้งกรมปศุสัตว์ โดยจะตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสุกร การขายหน้าร้าน และการขายจำนวนมากกับกลุ่ม Food Service จนถึงฟาร์มต้นทางที่นำมาจำหน่าย ขอความร่วมมืองดใช้มาตรการราคาต่ำทำโปรโมชันที่ทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มลดลงเป็นอย่างมาก
นายสิทธิพันธ์กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยสนองนโยบายเป็นอย่างดี เชื่อว่า ไม่มีการลักลอบนำเข้ามาใหม่แล้ว แต่ยังมีตกค้างจึงยังส่งผลกระทบต่อราคาอยู่
ส่วนที่มีกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไปยื่นหนังสือถวายฎีกาที่สำนักพระราชวังเกี่ยวกับผลกระทบจากหมูเถื่อน รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงต่อเนื่องที่ทำให้ประสบภาวะขาดทุนนั้น เป็นการดำเนินการของกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยบางกลุ่ม ไม่ใช่ในนามของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติพึงพอใจกับความพยายามแก้ปัญหาของภาครัฐ เชื่อว่า หากดำเนินการตามที่ได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องจะสามารถหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศได้ในที่สุด .- 512 – สำนักข่าวไทย