กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช พบหลักฐานการปลอมแปลงเอกสารยื่นประกอบการนำเข้าสินค้า โดยยื่นขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมง พร้อมเอกสารรับรองสุขอนามัยสัตว์ แต่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปประเทศต้นทาง พบเป็นสินค้าสุกร การปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวโยงกับผู้นำเข้า 3 รายซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีหมูเถื่อนในคดีพิเศษอยู่แล้ว นำหลักฐานเข้าแจ้งความตำรวจสอบสวนกลาง
นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชและโฆษกหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช นายชัยวัฒน์ โยธคล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาค ร่วมกับนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานปราบปราม “หมูเถื่อน” กรณีที่มีการสำแดงการนำเข้าว่า เป็นสินค้าประมง
นายธนดลกล่าวว่า เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมงในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งเริ่มจากตรวจสอบเอกสารขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมงของผู้นำเข้าที่ถูกดำเนินคดีในคดีพิเศษ ผลปรากฏว่า พบการยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ มีการใช้เอกสารรับรองสุขอนามัยสัตว์ซึ่งมีข้อความไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นเอกสารที่มีการปลอมแปลงเพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ในการขออนุญาตนำเข้า
อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าสินค้าประมง หลังจากที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ 21 ตู้ ที่เป็นสินค้าตกค้าง ณ สำนักงานศุลกากรแหมฉบัเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 พบว่า 1 ใน 21 ตู้ที่สุ่มตรวจมีสินค้าภายในตู้ไม่ตรงตามที่ผู้นำเข้าได้ขออนุญาตไว้ตอนนำเข้า โดยมีชิ้นส่วนหมูปะปนมากับสินค้าประมงภายในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน
ต่อมากรมประมงจัดตั้ง War Room ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเอกสารจากกรมปศุสัตว์มาร่วมตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเชิงลึก โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์กว่า จึงพบการยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำที่มีการใช้เอกสารรับรองสุขอนามัยสัตว์ซึ่งมีข้อความไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเช่น รายการสินค้าสำแดงเป็นปลาจวด แต่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปยังประเทศต้นทางพบว่า ข้อความในเอกสารรับรองสุขอนามัยสัตว์ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง โดยในเอกสารระบุ เป็นสินค้าสุกร
จากการตรวจสอบพบดังกล่าว หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชพบว่า เชื่อมโยงกับขบวนการหมูเถื่อนที่เป็นผู้นำเข้า 3 รายในคดีพิเศษ ขณะนี้พบมีการปลอมแปลงในลักษณะดังกล่าว 20 ฉบับและกำลังตรวสอบเพิ่มเติม การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 264 ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสารต้องระวางโทษเช่นเดียวกันมาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียวง
อธิบดีกรมประมงกล่าวย้ำว่า หลังจากพบข้อมูลการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” โดยสำแดงเป็นสินค้าสัตว์น้ำ กรมประมงได้ยกระดับการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สำแดงเป็นสินค้าประมง ด้วยการเปิดตรวจสอบทุกตู้ซึ่งได้กำหนดมาตรการไว้ 2 แนวทาง คือการเปิดตรวจ ณ ด่านหรือท่าเทียบเรือ และการตรวจสอบ ณ สถานประกอบการ (โรงงานหรือห้องเย็น) โดยการซีล (Seal) ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังสถานประกอบการ เพื่อดำเนินการควบคุมและตรวจสอบการคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้า ณ สถานประกอบการ จนมั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำเข้าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิต หรือจำหน่ายต่อไป
จากนั้นหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราชไปยื่นหนังสือกับผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อดำเนินคดีต่อไป. – 512 – สำนักข่าวไทย