กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ กำชับกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสายหลักที่มีน้ำท่วมบางพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนตามข้อห่วงใยของนายกฯ เผยฝนที่ตกชุกช่วงปลายฤดู ทำให้มีแนวโน้มที่จะสามารถสนับสนุนการทำการเกษตรได้ทุกประเภทในช่วงฤดูแล้งนี้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำที่กรมชลประทาน โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมด้วย โดยประชุมกับสำนักชลประทานที่ 1-17 ผ่านระบบออนไลน์ (Video Conference)
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเกินร้อยละ 80 ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนประแสร์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา
ร้อยเอกธรรมนัสกำชับว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระยะนี้จะยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางพื้นที่ จึงขอให้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีน้ำท่วมบางพื้นที่ ให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่า ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 397 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 1,600 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากเพิ่มขึ้นอีกระลอก จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำเหนือในระยะต่อไป
พร้อมกันนี้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระนารายณ์ ลงสู่คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิตเพื่อเร่งสูบระบายลงอ่าวไทย พร้อมทั้งตัดยอดน้ำบางส่วนออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองสำโรง ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow เพิ่มเติมอีก 7 เครื่อง บริเวณ ปตร.ปลายคลอง 20 ปตร.ปลายคลอง 19 ปตร.บางขนาก และ ปตร.ท่าถั่ว เพื่อเร่งสูบน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และอ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ฝนที่ตกชุกช่วงปลายฤดูส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ดดยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีรวม 8,524 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า ในวันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีจำนวน 9,673 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,401 ล้าน ลบ.ม.
จากสภาพการณ์ดังกล่าว จึงมีโอกาสที่จะส่งให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่เขตชลประทาน แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ หากมีมติเห็นชอบ กระทรวงเกษตรฯ จะนำเข้าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป รวมทั้งคาดว่า จะสามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมในช่วงฤดูแล้ง สำหรับอ่างเก็บน้ำอื่นๆ กรมชลประทานมีการติดตามและวางแผนการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง มั่นใจไม่กระทบการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย