กรุงเทพฯ 10 พ.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากจากอิทธิพลของพายุไซโคลน “โมคา” ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 25 อำเภอใน 9 จังหวัดตามประกาศของกอนช. ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค. นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เตรียมรับสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนในอ่าวเบงกอล โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ขณะนี้เป็นพายุดีเปรสชัน คาดว่า จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน “โมคา” (MOCHA) ในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ค.)
ทั้งนี้ได้ย้ำให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำมาก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนว่า จะเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2566 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ แล้วจะมีฝนตกต่อเนื่องจากพายุไซโคลน “โมคา” ซึ่งมีแนวโน้มการเคลื่อนตัวจะขึ้นไปทางเหนือค่อนไปทางตะวันตกเข้าสู่บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางและอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 พ.ค. แม้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะส่งผลให้มีฝนต่อเนื่องในประเทศไทยตอนบน โดยมีฝนตกหลายพื้นที่และตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 2566
สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากจากพายุดังกล่าว มี 25 อำเภอใน 9 จังหวัด ดังนี้
- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวิเชียรบุรี)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอคำม่วง ท่าคันโท ยางตลาด และห้วยเม็ก) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น กระนวน ชุมแพ น้ำพอง และพระยืน) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอแก้งคร้อ และภูเขียว) จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอนาดูน และพยัคฆภูมิพิสัย) จังหวัดยโสธร (อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว และมหาชนะชัย) จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ และราษีไศล) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร และม่วงสามสิบ)
ดังนั้นกรมชลประทานจึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งจัดบุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำนองระบายไม่ทันเพื่อให้สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือจากสถานการณ์ได้ทันที บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทาน ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
นายประพิศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสิ้นสุดการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 แล้ว ได้เข้าสู่การจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมา ปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะเริ่มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญประมาณเดือนมิ.ย. ถึงส.ค. นี้ จะทำให้ฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนทั้งปีจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% กรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิดและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ การกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด
หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย