กรุงเทพฯ 7 มี.ค. – อธิบดีกรมประมงระบุ เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลปี 2566 ซึ่งมีเป้าหมายฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวนกว่า 140,000 ตัน หวังให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตกุ้งทะเลในตลาดโลกได้อีกครั้ง
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กำลังเร่งเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (ชริมพ์บอร์ด) โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ 400,000 ตัน ภายในปีนี้ จากที่ในปี 2565 ผลิตได้ 307,243.31 ตัน ดังนั้นจะต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตอีก 143,425.64 ตัน
ทั้งนี้ “กุ้งทะเล” เป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก โดยในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท โดยปริมาณลดลงถึงร้อยละ 53.90 และมูลค่าลดลงร้อยละ 44.72
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลงเนื่องจากปลายปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทย ขณะนี้ผลผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2553
ปัจจุบันมีเกษตรกรแจ้งประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 40,983 รายในพื้นที่ที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 35 จังหวัด พื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ 224,418 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงบางส่วนประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าพลังงาน ค่าสารเคมี เป็นต้น ทั้งยังมีต้นทุนแฝงจากการเกิดโรคกุ้งทะเลซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดน้อยลง จึงส่งผลกระทบให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมประมงเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตัน ภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตในตลาดโลกได้อีกครั้ง
ปัจจุบันเกษตรกรมีการแจ้งประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 40,983 รายในพื้นที่ที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 35 จังหวัด มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงประมาณ 224,418 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงบางส่วน
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลปี พ.ศ 2566 ประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ได้แก่ กลยุทธ์การส่งเสริมด้านการตลาด กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเล และกลยุทธ์แนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล โดยจะส่งเสริมการบริโภคกุ้งภายในประเทศและต่างประเทศ การประกันราคารับซื้อ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และกฎระเบียบของการส่งออกกุ้งทะเล การส่งเสริมการใช้ลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับศักยภาพการผลิตการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนการแก้ไขปัญหาโรคกุ้งทะเลในระดับโรงเพาะฟัก/โรงอนุบาลและฟาร์มเลี้ยง การอบรม/ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกุ้งทะเล คลินิกเคลื่อนที่ และการส่งเสริมให้มีห้องปฏิบัติการเอกชนเพื่อให้บริการตรวจโรคสัตว์น้ำ เป็นต้น
ล่าสุดชริมพ์บอร์ดได้แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม 2 คณะได้แก่ คณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคกุ้งทะเล และคณะทำงานคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งทะเลให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดรับสมัครโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในวันที่ 15 มีนาคม 2566 นี้
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเล ปี พ.ศ. 2566 จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น 51,961.58 ล้านบาทส่งผลให้อุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยกลับมาเป็นผู้นำในการส่งออกได้อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย