กรุงเทพฯ 2 มี.ค.- กรมปศุสัตว์ออกประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสัตว์ 4 ชนิด ประกอบด้วย โค กระบือ แพะและแกะ รวมถึงซากสัตว์เหล่านี้ เหตุจากเกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในเมียนมา จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเข้าสู่ไทย พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง สกัดกั้น และควบคุมโรคภายในประเทศอย่างเข้มงวด
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ประกอบด้วย เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ และเรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรสัตว์ซึ่งแพะ แกะ หรือซากแพะ ซากแกะจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health : WOAH) รายงานการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FMD) ในพื้นที่ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ดังนั้นจึงอาศัยอำนาจอธิบดีกรมปศุสัตว์ตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ออกประกาศดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ดังกล่าวแพร่กระจายเข้ามาในประเทศ เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อยสามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตายไปยังท้องที่ต่างๆ หากแพร่กระจายเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะในประเทศไทย
ประกาศทั้ง 2 ฉบับออก ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 และเผยแพร่ในราชกิจจนุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นผลให้ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป
สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease : FMD) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ในสัตว์ที่มีกีบคู่เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และกวาง ยกเว้นม้า ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมีอยู่หลายชนิดและหลายสายพันธุ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ได้ ทั้งยังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยเฉพาะกับสัตว์ที่ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
สำหรับการติดต่อของโรคสามารถเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือ การสัมผัสจากสัตว์ป่วยโดยตรงหรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วยเช่น น้ำนม น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของเหลวจากตุ่มใส สัตว์ป่วยสามารถขับไวรัสออกมาได้แม้จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรค สำหรับสัตว์ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้แล้ว เมื่อไวรัสติดต่อเข้าไปจะไม่มีผลทำให้สัตว์แสดงอาการของโรค แต่สัตว์ตัวนั้นจะมีเชื้ออยู่ในตัว ซึ่งหมายถึงว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นพาหะของโรคได้ ส่วนทางอ้ออมคือ การได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสัตว์ คน เสื้อผ้ารองเท้า สัตว์เลี้ยง อาหาร หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ภายในคอกสัตว์
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์และสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ชายแดนคุมเข้มเฝ้าระวัง สกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสัตว์กีบคู่ตามประกาศเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันโรค ตลอดจนเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อยด้วยการฉีดวัคซีน ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์
นอกจากนี้ยังเร่งประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรให้ปฏิบัติตามระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP) ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะที่เข้า-ออกฟาร์ม และฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยแก่สัตว์ หมั่นสังเกตอาการสัตว์ในฟาร์มอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีหรือที่ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะเร่งดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรค และช่วยเหลืออย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย