กรุงเทพฯ 23 ก.พ. – อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย “สารวัตรบีเกิ้ล” ตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ 3 รายการ น้ำหนักรวม 22.5 กก. โดยซุกซ่อนในสัมภาระที่มากับเที่ยวบินต้นทางกรุงฮานอย เวียดนาม เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จับกุมผู้กระทำผิดได้
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/02/23/1120729/1677118118_731043-tnamcot-1024x683.jpg)
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายคัชพนธ์ อุดมสินค้า ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งนำชุดปฏิบัติการทีมสุนัขดมกลิ่น (DLD-Quarantine and Inspection Canine unit) และเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ทั้งขาเข้าและขาออก โดย “สารวัตรบีเกิ้ล” สุนัขดมกลิ่นของกรมปศุสัตว์ตรวจพบกลิ่นต้องสงสัยเป็นเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในกล่องสัมภาระของผู้โดยสารที่มากับเที่ยวบิน VN 611 สายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ ต้นทางกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
เมื่อแกะกล่องสัมภาระพบผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ซุกซ่อนอยู่ น้ำหนักรวม 22.5 กิโลกรัม ดังนี้
– หมูสามชั้น 4 ถุง น้ำหนัก 11.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 8,050 บาท
– เนื้อหมูสด 4 ถุง น้ำหนัก 7.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 2,250 บาท
– แหนมหนังหมู 16 แพ็ค น้ำหนัก 3.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,400 บาท
การลักลอบนำเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มีโทษตามมาตรา 68 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงควบคุมตัวชาวเวียดนามซึ่งผู้กระทำความผิดส่งพนักงานสอบสวนและฝากขังที่ สภ.สุวรรณภูมิเพื่อดำเนินคดีต่อไป
สำหรับของกลางในคดี ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคและสารตกค้าง โดยจะเก็บรักษารอขออนุมัติเพื่อนำทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวว่า กรมปศุสัตว์จะตรวจเข้มเพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์-ซากสัตว์เข้ามายังราชอาณาจักรตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดสัตว์ รวมถึงป้องกันไม่ให้เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารตกค้างซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย