กรุงเทพฯ 9 พ.ย.- อธิบดีกรมชลประทานเผย เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำลงอยู่ในเกณฑ์ 1,000 ลบ.ม./วินาทีแล้ว ส่งผลให้ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งลุ่มเจ้าพระยาทยอยลดลงจนใกล้สู่ภาวะปกติ คาดว่า ในอีก 2-3 วันจะระบาย 700 ลบ.ม./วินาทีซึ่งจะทำให้ระน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาลดลงต่ำกว่าตลิ่ง กรมชลประทานยังเดินหน้าฟื้นฟูพื้นที่น้ำลดต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี65/66 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 พ.ย.) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,218 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ลดลงจากวานนี้ที่ 1,283 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้สามารถระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราที่ลดลงเช่นกัน โดยวันนี้ระบายที่ 1,007 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ที่ 1,183 ลบ.ม./วินาที
ขณะนี้สถานการณ์ระดับที่น้ำล้นตลิ่งในจังหวัดอ่างทองได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ ป่าโมก เมืองอ่างทอง ไชโย และโพธิ์ทอง รวมถึงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้แก่ อำเภอบางบาล เสนา และผักไห่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ในอีก 2-3 วันจะลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงอยู่ในเกณฑ์ 700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวลดลงจนต่ำกว่าตลิ่ง ระหวางนี้กรมชลประทานยังคงช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำและฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายประพิศกล่าวว่า ปัจจุบันเข้าสู่ฤดูแล้งของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลางแล้ว จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำ พร้อมวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ให้สามารถมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นำสถิติปริมาณฝนและปริมาณน้ำจากปีที่ผ่านมามาเป็นแนวทางในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด.-สำนักข่าวไทย