สงขลา 5 พ.ย. – กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำภาคใต้ตอนล่าง ที่ปัจจุบันปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติ 27% สั่งโครงการชลประทานสงขลาเฝ้าระวัง “เทศบาลนครหาดใหญ่” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่ง รวมถึงพื้นที่เสี่ยง จ.พัทลุง ตรัง และสตูล ในห้วงฤดูฝนของภาคใต้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจสถานการณ์น้ำในภาคใต้ตอนล่าง เพื่อกำชับโครงการชลประทานต่างๆ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
ปัจจุบันปริมาณฝนในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล มากกว่าค่าปกติ (ค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง) 27% ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดังนี้
- จังหวัดสงขลา ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ ชุมชนริมคลองธรรมชาติ อำเภอหาดใหญ่ และบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ
- จังหวัดพัทลุง ได้แก่ อำเภอศรีบรรพตและเขาชัยสน และบริเวณขอบทะเลสาบ อำเภอเมืองพัทลุง
- จังหวัดตรัง ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง ตลาดนาโยง อำเภอนาโยง และตลาดเทศบาลตำบลย่านตาขาว อำเภอย่านตาขาว
- จังหวัดสตูล ได้แก่ อำเภอเมืองสตูลและละงู
ทั้งนี้ ได้ระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เป็นต้น 247 หน่วย เตรียมพร้อมไว้ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและลดผลกระทบสถานการณ์อุทกภัยได้ทันท่วงที ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงแล้ว 36 เครื่อง จากแผน 128 เครื่อง พร้อมกันนี้กำชับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและระบบชลประทานให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก รวมไปถึงการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
นายประพิศ กล่าวว่า ได้วางแผนปรับปรุงระบบชลประทานในภาคใต้ที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและพื้นที่ชลประทานได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งสามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต.-สำนักข่าวไทย