กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – กรมชลประทานเร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่น้ำลดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำจากพื้นที่รับน้ำของมหาวิทยาลัยราชธานีเพื่อให้เปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว สำหรับถนนสายต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีที่ถูกน้ำท่วมก่อนหน้านี้ น้ำลดและใช้สัญจรได้ทุกสายแล้ว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า M.7 จังหวัดอุบลราชธานียังคงสูงกว่าตลิ่ง 2.27 เมตร แต่ยังสามารถระบายออกแม่น้ำโขงได้ดีเนื่องจากระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำลงต่อเนื่อง โดยวันนี้ระดับน้ำต่ำกว่าแม่น้ำมูล 7 เมตร
ระดับน้ำแม่น้ำมูลลดลงจากวานนี้ 14 เซนติเมตร นับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. จนถึงวันนี้ลดลงรวม 2.21 เมตร คาดการณ์ว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลจะลดลงจนสู่ระดับตลิ่งประมาณกลางเดือนพ.ย. เนื่องจากปริมาณน้ำปีนี้มีมาก โดยตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. เป็นต้นมา มีน้ำไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี 25,000 ล้านลบ.ม. หรือเท่ากับน้ำในเขื่อนสิรินธร 13 เขื่อน ส่วนปริมาณการระบายลงสู่แม่น้ำโขงรวม 30,000 ล้านลบ.ม. หรือเท่ากับน้ำในเขื่อนสิรินธร 15 เขื่อน
ขณะนี้ถนนในจังหวัดอุบลราชธานีน้ำลดและสัญจรได้ทุกสายแล้ว โดยมีสายสะพาน 100 ปีไปยังอำเภอวารินชำราบที่ยังมีน้ำท่วมขังบางจุดซึ่งรถเล็กจะสัญจรได้ในอีก 2 วัน
สำนักงานชลประทานที่ 7 รายงานว่า ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 นิ้ว 2 เครื่อง ขนาด 4 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง พร้อมทั้งตรวจสอบจุดเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล 1 เครื่อง และเตรียมรถแบคโฮ 2 คันเพื่อเปิดทางน้ำและเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่รับน้ำของมหาวิทยาลัยราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานีเนื่องจากยังคงมีน้ำท่วมขังภายในมหาวิทยาลัยและไม่สามารถระบายออกได้ จึงสั่งการให้เข้าฟื้นฟูพื้นที่และช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้กลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำชีในจังหวัดมหาสารคามลดลงต่อเนื่อง โดยยังคงล้นตลิ่งบางแห่งและระดับน้ำต่ำกว่าคันกั้นน้ำเพียงเล็กน้อย กรมชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่ตำบลเกิ้ง ลาด และท่าตูม อำเภอเมืองมหาสารคาม อย่างเต็มกำลังและต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบ ปัจจุบันสูบระบายน้ำวันละประมาณ 1.5 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละประมาณ 4-5 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ได้สั่งการโครงการชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งสำรวจตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ ในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สามารถเก็บกักน้ำและส่งน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้ง.-สำนักข่าวไทย