นครศรีธรรมราช 28 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งทุกโครงการชลประทานในภาคใต้ ให้พร้อมรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้น เสริมเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดได้ ย้ำต้องติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้หรือเข้าสู่ภาคใต้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเดินทางไปติดตามการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำในภาคใต้เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ปริมาณฝนในภาคใต้จะมากกว่าค่าปกติเช่นเดียวกับฤดูฝนทางตอนบนของประเทศ รวมถึงคาดการณ์ว่า อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าใกล้หรือเข้าสู่ภาคใต้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้
ดังนั้นจึงสั่งการให้โครงการชลประทานต่างๆ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ ให้พร้อมรองรับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นจากฝน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม พร้อมกันนี้ให้เสริมเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำประจุจุดเสี่ยงภัยเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมชลประทานยังได้ติดตามความพร้อมรับสถานการณ์ฝนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 5 จุด ได้แก่ ลุ่มน้ำตาปี ต้นลุ่มน้ำตรัง ลุ่มน้ำคลองกลาย ลุ่มน้ำคลองท่าดี และลุ่มน้ำปากพนัง พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำรวม 221 เครื่อง เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้ทันที รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนในพื้นที่
ปัจจุบันได้พร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากในช่วงตุลาคม-มกราคมนี้ไว้แล้ว นอกจากนี้ ยังได้กำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองที่ผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชแล้วทั้ง 5 สาย ได้แก่ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าซัก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทาน ยืนยันมีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพทุกแห่ง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะช่วยตัดยอดน้ำหลากในคลองท่าดีให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จึงได้เร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถใช้ป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างยั่งยืนต่อไป แต่เนื่องจากระยะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนภาคใต้และจุดที่กำลังก่อสร้างเดิมเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงได้กำชับให้วางแนวทางการจัดจราจรน้ำอย่างรัดกุม หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นประชาชนให้มากที่สุด
ส่วนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณสามแยก กม.0 ริมถนนสาย 4008 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน และจังหวัดพัทลุง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณชุมชนอำเภอเก่า หมู่ที่ 1 ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน
นอกจากนี้ยังเสริมการเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิก ขนาด 42 นิ้ว 1 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางไทร ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากพนัง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว 2 เครื่อง ที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียทุ่งท่าลาด บ้านดอนหัวเล หมู่ที่ 2 ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่
ส่วนที่จังหวัดตรัง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิก ขนาด 24 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณบ้านนาแขก หมู่ที่ 3 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ชุมชน ลงสู่คลองผันน้ำระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ก่อนระบายออกสู่ทะเลอันดามันตามลำดับ .-สำนักข่าวไทย