กรุงเทพฯ 5 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน ระบุได้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อรับน้ำเข้าทุ่งลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง ตามมติของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ของ กอนช.แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลุยสำรวจทุกทุ่ง เปิดทางชักนำน้ำให้ไหลเข้าทุ่งได้สะดวก ย้ำการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อรับน้ำเข้าต้องทยอยเปิด เพื่อให้ประชาชนในทุ่งเตรียมรับสถานการณ์ ส่วนกำหนดปริมาณน้ำที่รับเข้า ต้องไม่กระทบต่อถนนหนทาง เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เริ่มรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาผ่านระบบชลประทานทั้ง 10 ทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 หลังจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีมติ โดยเป็นการทยอยรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ขณะนี้มีน้ำเข้าไปบางทุ่งแล้ว
นอกจากนี้ยังจัดชุดเฉพาะกิจ พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปประจำทุกพื้นที่ โดยสั่งการให้สำรวจว่า มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรืออุปสรรคใดในการนำน้ำเข้าทุ่งหรือไม่ พร้อมให้เปิดทางน้ำ ชักนำให้น้ำไหลเข้าทุ่งได้สะดวก ในระหว่างทยอยรับน้ำเข้าทุ่ง หากจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในทุ่งต่างๆ ต้องเข้าแก้ไขทันที
ทั้งนี้ ย้ำให้ดำเนินการรับน้ำเข้าด้วยความระมัดระวัง โดยให้เพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมสถานการณ์ล่วงหน้า ส่วนปริมาณน้ำที่จะรับเข้าไปต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และคำนึงถึงฝนที่ตกในพื้นที่ด้วย สิ่งสำคัญคือ น้ำต้องไม่ท่วมถนนหนทาง ประชาชนต้องสัญจรได้ตามปกติ
สำหรับการดำเนินการรับน้ำเข้าทุ่ง เป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งถูกน้ำท่วมมากว่า 2 เดือนด้วย อย่างเช่นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ได้ทยอยยกบานระบายน้ำของประตูระบายน้ำคลองตานึ่งเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร เพื่อรับน้ำเข้าทุ่งป่าโมก ซึ่งเป็นระดับที่ไม่กระทบกับทางสัญจรสายหลักภายในทุ่ง รวมทั้งบ้านเรือนที่มีอยู่ประมาณ 30 หมู่บ้าน 640 หลังคาเรือน ทำให้ประชาชนทั้งที่อยู่นอกคันกั้นน้ำและในทุ่งป่าโมก ต่างเข้าใจและพึงพอใจ
อธิบดีกรมชลประทาน ย้ำให้โครงการชลประทานต่างๆ บริหารจัดการน้ำโดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ต้องประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับความสอดคล้องในการระบายน้ำและระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันเวลา.-สำนักข่าวไทย