กรุงเทพฯ 4 ต.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน ระบุได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าอ่างปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำในเขื่อนมี 98.54% ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนที่จะสูงขึ้น รวมถึงระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำมีมากถึง 946 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น98.54% โดยมีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนวันละ 152 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งกรมอุตุนิยมคาดการณ์ว่า ระยะนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ที่ระบุว่า จะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในระหว่างวันที่ 3 ถึง 9 ตุลาคมรวม 449.90 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในวันที่ 10 ตุลาคม คาดการณ์ว่า ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมี 963.92 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเกินกว่าความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด
ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่วันนี้ (4 ตุลาคม) เป็นต้นไป เมื่อน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไหลไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสัก แล้วจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี S.26 ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในอัตราประมาณ 900 ลูกบาศก็เมตรต่อวินาที
การระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำพื้นที่ริมแม่น้ำปาสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรีถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ1.00- 1.20 เมตร และท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 40-60 เซนติเมตร ส่วนที่จุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 25-50 เซนติเมตร
ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดด้านท้ายเขื่อนรวม 6 จังหวัดได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรีปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร รวมถึงออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนแล้ว ขอให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย