กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตรวจด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย้ำทุกด่านนำเข้า-ส่งออกของกรมวิชาการเกษตรให้เฝ้าระวังการลักลอบนำผลไม้จากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เป็นผลไม้ไทยเพื่อส่งออก หากพบให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/08/31/1008454/1661926276_148437-tnamcot-1024x683.jpg)
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรติดตามสถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนผ่านประเทศที่สาม ณ ด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การจัดการส่งออกส่งออกผลไม้ไปจีนอย่างเป็นระบบของกรมวิชาการเกษตรทำให้ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ย้ำให้ด่านตรวจพืชเข้มงวดและเฝ้าระวังการลักลอบนำผลไม้จากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เป็นผลไม้ไทยแล้วส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ได้รับรายงานว่า แปลง GAP ที่นำมายื่นเพื่อขอรับใบสุขอนามัยพืชนั้นไม่มีผลผลิตสำหรับการส่งออกจริง ซึ่งด่านตรวจพืชจะต้องประสานไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาเกษตร (สวพ.) ในพื้นที่เพื่อขอให้ตรวจสอบ และหากพบการสวมสิทธิ์จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงผู้ส่งออกหรือตัวแทนผู้ส่งออกด้วย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2022/08/31/1008454/1661926315_225032-tnamcot-683x1024.jpg)
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกผลไม้สดไทยไปจีน ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีแปลงเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GAP กับกรมวิชาการเกษตร และได้รับการยอมรับ และขึ้นทะเบียนกับ GACC สำหรับการส่งออกผลไม้ไปจีน 13 ชนิด 175,069 แปลง และมีโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GMP กับกรมวิชาการเกษตร 1,783 โรงคัดบรรจุ ปริมาณการส่งออกผลไม้ไปจีน จำนวน 71,213 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 1.82 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 100,451.72 ล้านบาท
ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านด่านตรวจพืชเชียงของผ่านประเทศที่สามมี 20,504 ชิปเม้นท์ ปริมาณรวม 380,277.11 ตัน มูลค่าประมาณ 29,054.66 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตรมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto certificate) พัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกตามนโยบายรัฐบาล 4.0 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผ่านระบบNational Single window : NSW ไปยังประเทศจีน ในการสำแดงที่ด่านนำเข้าว่าสินค้าได้ผ่านการตรวจสอบรับรองการปลอดโรค แมลงศัตรูพืช ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช ฉบับที่ 12 (International Standard for Phytosanitary Measures : ISPM) และให้สอดคล้องตามเงื่อนไขตามพิธีสารระหว่างไทยและจีน รวมถึงมาตรการ GMP Plus ไม่ให้มีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับตู้คอนเทนเนอร์สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผิวผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีน
สำหรับเส้นทาง R3A เป็นเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงระหว่างจีน-ลาวไทยเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2551 มีจุดเริ่มต้นจากเชียงของประเทศไทย ไปยังบ่อแก้ว หลวงน้ำทาบ่อเตน ของประเทศลาวและเข้าสู่โม่ฮ่านของจีนซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจรจาทางด้านเทคนิคมาตรการสุขอนามัยพืช จนกระทั่งเมื่อ 2554 มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย” และได้มีการแก้ไข ปี 2564 ครอบคลุมประเด็นมาตรการสุขอนามัยพืช จุดในการนำเข้า-ส่งออกของไทยและจีน รวมถึงการแจ้งเตือนให้อำนวยความสะดวกในการส่งออกมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสาหรับผลไม้ส่งออก จากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับส่งออกผลไม้ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบคลุมทุกประเด็น ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน.-สำนักข่าวไทย