จุฬาฯ 9 พ.ย.-คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และบริษัทเอกชน จัดรถเคลื่อนที่ให้บริการบำบัดน้ำเสียจากระบวนการย้อมผ้าดำ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัทเอกชน พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย จากน้ำย้อมผ้าแบบเคลื่อนที่ สำหรับจัดการกับน้ำเสียที่เกิดจากสีย้อมผ้า ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง โดยติดตั้งระบบบนรถยนต์สำหรับเดินทางไปยังบริเวณที่มีกิจกรรมย้อมผ้าสีดำเพื่อบำบัดน้ำเสียจากสีย้อมก่อนระบายลงสู่สิ่งแวดล้อม เบื้องต้นให้บริการหน่วยงานราชการที่มีกิจกรรมย้อมผ้าดำฟรีให้กับประชาชนก่อน
ผศ.ศรัณย์ เตชะเสน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระบวนการบำบัดที่เลือกใช้คือการดูดซับสีจากน้ำสีย้อมด้วยถ่านกัมมันต์ชนิดผงซึ่งเป็นวัสดุที่มีรูพรุนสูงและมีคุณสมบัติในการดูดซับสาร ประกอบอินทรีย์ต่างๆในน้ำได้ดี โดยเติมถ่านกัมมันต์ลงในน้ำและกวนผสมอย่างเหมาะสมให้เกิดการดูดซับอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นจึงทำการแยกถ่านกัมมันต์ออกจากน้ำด้วยระบบรีดด้วยความดันซึ่งใช้หลักการบีบอัดด้วยแรงดันเพื่อแยกตัวกลางดูดซับที่ใช้งานแล้วออกจากน้ำ โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมีลักษณะ ใสเทียบเคียงกับน้ำประปา โดยสามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 50 ลิตร ในเวลา10นาทีโดยถ่านกัมมันต์ที่ใช้งานแล้วจัดอยู่ในกลุ่มของเสียอันตรายที่จำเป็นต้องได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
ทั้งนี้ กระบวนการย้อมผ้าดำ ในระดับหน่วยเล็ก ๆ ที่ให้บริการประชาชน ในลักษณะจิตอาสา ยังไม่สามารถตอบได้ว่า มีกระบวนการบำบัดถูกต้องหรือไม่ แต่หากบำบัดไม่ถูกวิธี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสีย้อมผ้าส่วนใหญ่ ถูกออกแบบให้ติดคงทน สีสวยนาน ซึ่งยากต่อการย่อยสลายในธรรมชาติ.-สำนักข่าวไทย