ทำเนียบรัฐบาล 11 ส.ค.-นายกฯ ชื่นชมผู้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 ย้ำให้พัฒนาต่อยอดให้ตรงกับความต้องการ สร้างมูลค่าใช้ประโยชน์ได้จริง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) นำคณะนักเรียนนักศึกษาได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 จำนวน 6 สถาบัน เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับทีมหุ่นยนต์ประเทศไทยในการพัฒนาความสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยมี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คณะผู้จัดงาน World RoboCup 2022 (มหาวิทยาลัยมหิดล) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี ชมการสาธิตการแสดงหุ่นยนต์จากทีมนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 โดยกล่าวชื่นชมกับความสำเร็จของทุกคน พร้อมแนะนำให้พัฒนาศักยภาพหุ่นยนต์ให้มีความสามารถหลากหลายภายในหุ่นยนต์ตัวเดียวกันสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการการปฏิบัติหน้าที่ของหุ่นยนต์และให้สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากลำบากซึ่งคนไม่สามารถเข้าไปได้ เช่น ในพื้นที่แคบหรือที่สูง โดยเฉพาะหุ่นยนต์ในการกู้ภัยต่าง ๆ หรือหุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ทางทหาร เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี แนะนำให้นำคณะนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับรางวัลฯ ไปศึกษาดูงานในพื้นที่ EEC ซึ่งรัฐบาลได้วางแผนและดำเนินการหลายด้านทั้ง EECh EECd EECi EECmd EECa เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้เยาวชนนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาศักภาพตนเองให้สอดคล้องกันการพัฒนาประเทศในอนาคต ไปสู่การเป็น Start up เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณคณะครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับรางวัลฯ ตลอดจนคณะผู้จัดงาน World RoboCup 2022 (มหาวิทยาลัยมหิดล) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมกันดำเนินจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมย้ำให้พัฒนาขีดความสามารถผลิตหุ่นยนต์ให้ตรงกับความต้องการและความมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ โดยขอให้ประสานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้วทั้งในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม เป็นต้น ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณส่วนหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ที่ผลิตเองในประเทศแล้วซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้ด้วย
ในส่วนของคณะทำงานและนักเรียนนักศึกษา พร้อมรับจะนำข้อเสนอแนะนายกรัฐมนตรีไปพัฒนาปรับปรุงหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตามเป้าหมายที่กำหนด
สำหรับการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกภายใต้ชื่องาน “World RoboCup 2022, BangKok, Thailand” คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 เพื่อส่งเสริมผลักดันในการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลกลงทะเบียนมากว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก และเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพในการแข่งขันฯ จนได้รับรางวัลหลายรายการ
ทั้งนี้ ทีมนักเรียนนักศึกษาหุ่นยนต์ประเทศไทยที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022 ประกอบด้วย 1) การแข่งขันลีค RoboCup@home ได้แก่ ทีม SeaSky จากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ได้รับรางวัล Best Performance Award, RoboCup@home Education 2) การแข่งขันลีค RoboCup Rescue Robot ได้แก่ (1) ทีม iRAP ROBOT จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับรางวัลที่ 2 ประเภท RoboCup Rescue Robot และ (2) ทีม BART LAP Rescue Robotics จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัล Best Team Description Paper – RoboCup Rescue Robot 3) การแข่งขันระดับเยาวชน ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัยแบบผลิตรวดเร็ว ได้แก่ (1) ทีม E-TECH All DAY จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับรางวัลที่ 1 (2) ทีม E-TECH All NIGHT จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับรางวัลที่ 2 และ (3) ทีม SMT robot จากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ได้รับรางวัลที่ 3 ตามลำดับ และ 4) การแข่งขันระดับเยาวชน ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย ได้แก่ ทีม TPA-TOA Witthaya จากโรงเรียนทีโอเอวิทยา เทศบาล 1 วัดคำสายทอง ได้รางวัลที่ 1 ประเภท Super Team -–RoboCupJunior Rescue Line.-สำนักข่าวไทย