กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – รัฐมนตรีคลัง เชื่อภาคอสังหาฯ หนุนเศรษฐกิจฟื้น พร้อมหารือทุกฝ่ายดูแลรายย่อยซื้อบ้าน ธอส. แนะเตรียมใจรับดอกเบี้ยขาขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อสังหาฯ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงหรือ” ในงานสัมมนา PROPERTY INSIDE 2022 ว่า นับว่าภาคอสังหาฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง เพราะมีห่วงโซ่ เชื่อมโยงกันหลายสาขา ภาคอสังหาฯ นับเป็นตัวชี้วัดที่ดีในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะเห็นภาพการก่อสร้างและพัฒนาโครงการเมื่อเปิดโครงการใหม่ และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายสาขา รวมทั้งภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว 3 ภาครวมกัน นับว่า มีสัดส่วนเกินร้อยละ 80 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นับว่าอุตสาหกรรมทั้งสามสาขายังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้
ขณะนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัด มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ยังจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง เมื่อภาคเอกชนมองเห็นแนวโน้มการพัฒนา คาดว่าจะมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจได้มากขึ้น สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาครัฐมุ่งให้การดูแลกลุ่มผู้ซื้อบ้าน คลังยัง การขยายวงเงินซื้อบ้านมือสอง และพร้อมหารือกับ ธปท. ดูแลเรื่องวงเงินกู้ เงินดาวน์ LTV จะครบกำหนดในสิ้นปีนี้ ในการดูแลผู้ต้องการมีบ้าน รวมทั้งต้องการให้ผู้พัฒนาโครงการบ้าน สร้างบ้านรองรับดูแลผู้สูงอายุ อาศัยภายในบ้าน
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาปัญหาโควิดกระทบประชาชนจนขาดรายได้ แต่เมื่อต้องเจอภาวะสงคราม กระทบต้องปัญหาอาหาร ต้นทุนพลังงาน เมื่อน้ำมันเบนซินทยอยลดลง 3 บาท เพราะหลายคนกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยอมรับว่าราคาน้ำมันยังมีความผันผวน และภาครัฐมีเครื่องมือค่อนข้างจำกัด ทั้งการเจรจากับโรงกลั่นและดูแลผ่านกองทุนน้ำมัน
สำหรับทุนเคลื่อนย้ายไหลออก ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทุกประเทศเผชิญปัญหาเหมือนกัน ในส่วนของมาตรการรัฐ ดูแลประชาชน จากราคาน้ำมันผันผวน และต้นทุนขนส่งแพงนั้น รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในหัวข้อ “วิกฤตโควิด สู่ไฟสงคราม อสังหาไทย จะไปทางไหน” ว่า ยอมรับว่าประชาชนกังวลเรื่องการปรับเพิ่มดอกเบี้ยอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อการชำระเงินงวดและการซื้อบ้านใหม่ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2549 ดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 5, ในปี 51 ร้อยละ 3.5, ปี 58 ร้อยละ 1.5, ปี 65 ร้อยละ 0.5 ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มกลับไปสูงขึ้น มองว่า คนไทยยังพอมีช่องทางรองรับได้ เหมือนกับที่เผชิญในช่วงที่ผ่านมา เพราะอย่างไรดอกเบี้ยมีแต่จะปรับสูงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และเป็นปัญหาเกิดขึ้นทั่วโลก
เมื่อ กนง.ประชุมในเดือนสิงหาคม หากปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในส่วนของ ธอส. ยอมรับว่ามีต้นทุนสูงจากเงินฝากนับพันล้านบาท แต่พร้อมปรับดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ร้อยละ 0.15 และปรับเพิ่มอีกครั้งในเดือนมกราคม ปี 66 ธอส.ยังมีโครงการบ้านล้านหลัง รองรับความต้องการผู้มีบ้านของคนมีรายได้ระดับปานกลาง.-สำนักข่าวไทย