กรุงเทพฯ 11 ก.ค.-“เชาว์” ฟ้องกราวรูด “หมอ-รพ.-สปสช.-อนุทิน” ปล่อยคนไข้โควิด-19 ตาย ระบุ หมอ-รพ. ไร้จรรยาบรรณ ละเลยไม่ตรวจหาเชื้อ ปล่อยผู้ป่วยหนักกลับบ้านตามยถากรรมจนตายต่อหน้าครอบครัว ชี้ สปสช.-อนุทิน บริหารผิดพลาด ทำคนตายจำนวนมาก เหตุเข้าไม่ถึงระบบ สธ.
นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง ฟ้องเป็นคดีตัวอย่าง รพ.ปฏิเสธรักษา คนไข้โควิด-19 จนเสียชีวิต มีเนื้อหาระบุว่า ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าให้ฟังถึงการเสียชีวิตของคุณประไพ สาพันธ์ จากการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ความจริงครอบครัวนี้อาจไม่ต้องพบกับความสูญเสียเลย หากโรงพยาบาลจะมีการดูแลผู้ป่วยที่ดีกว่านี้ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนปีที่แล้ว ผู้ป่วยมีอาการครบทุกอย่างที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคโควิด-19 จึงไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง แจ้งให้แพทย์เวรรับทราบว่า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงจากมารดาที่ติดเชื้อโควิด-19 จึงขอให้ตรวจหาเชื้อ แต่แพทย์คนดังกล่าวกลับตรวจแบบหยาบ ๆ และไม่มีการตรวจหาเชื้อตามความประสงค์ของคนไข้ จ่ายยาพาราเซตามอล ก่อนจะให้เดินทางกลับบ้านไป จากนั้นเพียงวันเดียวอาการทรุดหนัก ในสภาพอิดโรย ไอ เหนื่อยหอบ ท้องเสีย ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ต้องมีคนคอยพยุงร่างไว้ ไม่สามารถเดินหรือลุกนั่งได้ จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น (25 มิ.ย. 64) พร้อมกับร้องขอต่อแพทย์คนเดิมให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าไม่มีน้ำยาตรวจหาเชื้อ สั่งให้เจ้าหน้าที่พยาบาลเจาะเลือดและให้น้ำเกลือขนาดปริมาณเล็กน้อยแก่ผู้ตาย ในสภาพที่ผู้ตายนั่งอยู่ในรถเข็นข้างทางเท้าบริเวณอาคารโรงพยาบาลอย่างน่าเวทนา โดยไม่ให้ผู้ตายเข้าไปยังห้องพักหรือรับตัวไว้ (admit) เพื่อเข้ารักษาต่อเนื่องแต่อย่างใด หลังจากผู้ตายได้รับน้ำเกลือจนหมดขวดประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่แจ้งให้นำผู้ตายกลับบ้านได้ ในสภาพที่ผู้ตายไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองญาติต้องคอยอุ้มขึ้นรถ
ต่อมาอีก 2 วัน ผู้ตายได้ไปตรวจหาเชื้อจากหน่วยบริการที่มาให้บริการใกล้บ้านได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ที่มาทำการออกหน่วยบริการ หาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 จึงเร่งประสานหาเตียงผ่านระบบของ สปสช.จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยขณะนั้น ผู้ตายมีอาการอ่อนเพลียมาก หายใจติดขัด มีภาวะช็อกเกร็ง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมารับตัวไปรักษา ในที่สุดผู้ตายได้เสียชีวิตภายในบ้านพักต่อหน้าครอบครัว
“เรื่องนี้ผมรับเป็นทนายอาสายื่นฟ้องทั้งแพทย์ โรงพยาบาล ต่อศาลแพ่งฐานละเมิดปฏิเสธไม่รับบริการให้การรักษาผู้ตายตามมาตรฐานที่ควรกระทำ รวมทั้งฟ้อง สปสช.และ รมว.สาธารณสุข ที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลโรงพยาบาลในกำกับ บริหารผิดพลาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข เนื่องจากขาดความพร้อมทั้งเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งน่าจะถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องจากกรณีโรคโควิด-19 ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง แพทย์ โรงพยาบาล ต้องมีจรรยาบรรณ ฝ่ายบริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาแล้วและนัดไกล่เกลี่ยหรือสืบพยานวันที่ 29 สิงหาคม 2565” นายเชาว์ระบุ.-สำนักข่าวไทย