กรุงเทพฯ 22 มิ.ย.-พพ.ปิ๊งไอเดีย รณรงค์ห้างฯ “ปิดแอร์ก่อนปิดห้างฯ ครึ่งชั่วโมง” ขอบคุณคอมเมนต์ เตามหาเศรษฐีคนตื่นตัวประหยัดพลังงาน ยอดจองเตาล้น วอนโรงงาน เข้มคุณภาพการผลิต
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อประหยัดพลังงาน ปรากฏว่า มีคนสอบถามหาซื้อเตามหาเศรษฐีจำนวนมาก ตอนนี้โรงงานที่ผลิต ผลิตไม่ทัน ต้องสั่งจอง ซึ่งทาง พพ.ก็เป็นห่วงเรื่องคุณภาพของเตา ดังนั้น ก็ได้ขอความร่วมมือผผู้ผลิตทั้งหมด 10 ราย ร่วมรักษาคุณภาพ และทางเจ้าหน้าที่ของ พพ.ก็จะลงไปตรวจสอบเป็นระยะ ๆ โดยในส่วนของโรงงานอื่น ๆ ที่ต้องการร่วมผลิตก็สามารถแจ้งทาง พพ.เพื่อส่งเจ้าหน้าไปไปให้คำแนะนำ และส่งแบบให้ผลิต โดยทาง พพ.ยังมีเทคนิค เทคโนโลยี อื่น ๆ อีกมาก ที่จะช่วยพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำมันแพง อาทิเช่น เตาปิ้งไก่ประหยัดพลังงาน หม้อก๋วยเตี๋ยวประหยัดพลังงาน โซลาร์โดมอบแห้ง และอื่น ๆ พร้อมที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
“เพจ FB ของ พพ.เป็นการรณรงค์ประหยัดพลังงานมาต่อเนื่อง ปกติคนไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่เรื่องเตามหาเศรษฐีมีคนมาคอมเมนต์กว่า 8 พันราย มีทั้งแซว มีทั้งสอบถาม ซึ่งก็ขอบคุณทุกคอมเมนต์ แต่ขอให้อย่าดูถูกวิถีไทย เตามหาเศรษฐีเป็นเตาที่เป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้ผลจริง ไม่ต้องไปอาศัยเทคโนโลยีต่างประเทศ ก็ขอเชิญชวนพ่อค้าแม่ขาย อาจจะเป็นการขายก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง กล้วยทอด ปาท่องโก๋ แคบหมู ขนมครก ข้าวเหนียวปิ้ง หมูปิ้ง ที่ใช้เตาอั้งโล่แบบธรรมดาหรือใช้เตาแอลพีจี แต่อยู่ในพื้นที่เปิดมาลองใช้เตามหาเศรษฐีดูจะติดใจ เพราะจะประหยัดเงินได้จริง” นายประเสริฐกล่าว
สำหรับเตามหาเศรษฐีนั้นช่วยประหยัดได้จริงกว่า 40% มีคนเคยใช้จำนวนมากที่ยืนยันได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามลภาวะจากเตานี้มากกว่าเตาก๊าซหุงต้มหรือ LPG แต่มลภาวะต่ำกว่าเตาอั้งโล่ธรรมดาเยอะมาก เพราะเป็นระบบปิดมากกว่า และมีประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่สูงกว่า ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับเตาอั้งโล่ธรรมดา ถือว่าเตามหาเศรษฐีจะช่วยลดมลภาวะได้อย่างมาก โดยพบว่าคนไทย 5-10 ล้านครัวเรือนยังใช้เตาอั้งโล่ ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้น เตานี้จึงเหมาะกับวิถีไทยในพื้นที่ชนบท ใช้ในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่เหมาะกับคอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ หรือห้องแถวที่ไม่มีบริเวณ ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามดูแลประชานชนทุกภาคส่วน จำเป็นต้องมีหลากหลายมาตรการที่เหมาะสมกับภาคส่วนนั้น ๆ เตามหาเศรษฐีอาจไม่เหมาะกับคนเมือง คนกรุงเทพฯ หรือคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย แต่เตามหาเศรษฐีจะช่วยพี่น้องประชาชนต่างจังหวัด วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้เป็นอย่างดี
อธิบดี พพ.กล่าวว่า ในขณะที่ พพ.เดินหน้าส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ขอความร่วมือเอกชนร่วมดำเนินการ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีข้อเสนอให้ภาครัฐดำเนินโครงการร่วมสนับสนุนปรับเครื่องมือเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น ชิลเลอร์ บอยด์เลอร์ โดยภาครัฐสนับสนุนด้วยกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 20% ในเรื่องนี้ก็กำลังเสนอของบฯ อยู่ รวมทั้งขอให้เปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา โดยในส่วนของห้างสรรพสินค้าจะเป็นไปได้หรือไม่ ให้ปิดแอร์ก่อนเวลาปิดห้างฯ ประมาณครึ่งชั่วโมง ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น
ภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทาง ใช้แอปสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง
“ในส่วนของการใช้พลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน หากร่วมมือลดได้ 10% ก็จะช่วยประเทศได้เยอะ ในขณะที่หน่วยงานราชการกำหนดให้ลดการใช้พลังงาน 20% โดยในส่วนของไฟฟ้าหากลดได้แล้วก็จะเป็นการลดการพึ่งพาการใช้ LNG ซึ่งมีราคาสูงมาก โดยประเทศไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วยต่อปี หากลดได้แค่ 10% ก็จะเป็นลดการใช้ LNG ที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงถึง 8 บาท/หน่วย (ราคา LNG ประมาณ 36 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู) หรือคิดเป็นเงินประหยัดได้นับแสนล้านบาท” อธิบดี พพ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย