กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – “อนุชา” เน้นย้ำ สคบ. ทำงานเชิงรุก กรณี ร้านดารุมะ ซูชิ ขาย voucher หากพบการหลอกลวง ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยความคืบหน้า กรณีร้านดารุมะ ซูชิ ที่ได้จำหน่าย voucher รับประทานอาหารให้แก่ผู้บริโภค จนได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่อมาภายหลังพบว่า ร้านดารุมะ ซูชิ ซึ่งมีจำนวนหลายสาขาได้ปิดตัวลงอย่างกะทันหัน จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคที่ได้ซื้อ voucher รับประทานอาหารกับร้านดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ตรวจสอบ สรุปประเด็นได้ ดังนี้
ปัจจุบันมีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวต่อ สคบ. จำนวน 481 ราย โดยมีมูลค่าเสียหายประมาณแปดแสนกว่าบาท มีกลุ่มผู้เสียหาย 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มของผู้บริโภคที่ซื้อมาเพื่อบริโภคโดยตรง ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินกิจการ และผู้ที่ซื้อคูปองเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ
นายอนุชา กล่าวถึงการดำเนินการของ สคบ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด และร้านดารุมะ ซูชิ สาขาบริเวณถนนรามอินทรา สาขาเดอะคริสตัล เอกมัย – รามอินทรา สาขาอมอรินี่ สวนสยาม และสาขาเมเจอร์ รัชโยธินแล้ว และได้ประสานให้ผู้จัดทำแอปพลิเคชัน Daruma Sushi ผู้จัดการของร้านดารุมะ ซูชิ และบุคคลที่อ้างว่าซื้อแฟรนไชส์ ร้านดารุมะ ซูชิ มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โดยได้รับแจ้งจากผู้จัดการสาขาว่ามีสาขาทั้งหมด 27 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ 20 สาขา และเป็นสาขาของนายเมธา ชลิงสุข กรรมการผู้มีอานาจลงนามผูกพันบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จำนวน 7 สาขา คือ สาขาอ่อนนุช, สาขาอุดมสุข, สาขาสวนสยาม, สาขาเฉลิมพระเกียรติ, สาขาเมเจอร์รังสิต, สาขาเมเจอร์รัชโยธิน และสาขาพาราไดซ์
พร้อมกันนี้ สคบ.ได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อขอข้อมูลการเดินทางเข้า – ออกประเทศของนายเมธา ชลิงสุข กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ทำหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอข้อมูลผู้ถือหุ้นบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ทั้งนี้ ได้รับทราบจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่านายเมธา ได้เดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลาประมาณ 01.35 น. ซึ่งได้มอบหมายให้ สคบ. หารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม โดยมีว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมหารือเพื่อทราบแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลการหารือเป็นไปด้วยดี ซึ่งกรณีดังกล่าวสามารถดำเนินการให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
นายอนุชา เน้นย้ำ สคบ. ทำงานเชิงรุก เร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริง หากพบการหลอกลวง ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมสั่งการให้ สคบ. คุมเข้มการขายสินค้าโปรโมชั่น โดยเฉพาะการโฆษณาขายผ่านสื่อออนไลน์ กำชับให้ทำงานอย่างครอบคลุม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคร่วมมือป้องกันแก้ปัญหา และให้ความรู้กับผู้บริโภคได้รู้เท่าทันกลโกงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค .-สำนักข่าวไทย