กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – กยท.ร่วมกับ สกว.ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านยางพารา
เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการบูรณาการด้านงานวิจัยยางระหว่างหน่วยงาน
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง
“การวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างยั่งยืน” ว่า
รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้และแปรรูปยางพาราในประเทศ
เพื่อสนองตอบความต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
มีการแปรรูปคิดเป็นร้อยละ 15-18 ของยางพาราที่ผลิตได้ทั้งหมดแต่ละปีให้เพิ่มเป็นร้อยละ 25-30 ภายใน 10
ปีนับจากนี้ไป
จากปัจจุบันส่งออกกว่าร้อยละ 80
ของยางที่ผลิตได้ทั้งหมด
ขณะนี้หน่วยงานด้านความมั่นคง ตำรวจ ทหาร
มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยาง แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้มีการแปรรูปยางในประเทศมากขึ้นผ่านมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุน เช่น
ส่งเสริมให้มีการสร้าง rubber city การให้ความรู้และสนับสนุนด้านวิจัยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมใหม่
ๆ ที่ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในรูปแบบของลงทุนเองทั้งหมดและการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย ที่เห็นผลแล้ว คือ อุตสาหกรรมขนส่งทางราง โดยในช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมามีการตื่นตัวลงทุนผลิตหลากหลาย เช่น แผ่นรองคอสะพาน แผ่นรองรางรถไฟ
ระบบกันสะเทือนรถ เป็นต้น และขณะนี้หลายผลิตภัณฑ์สามารถนำมาใช้ได้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนด้านการจัดซื้อจัดจ้างอีกด้วย
พลอากาศเอกประจิน กล่าวว่า การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนายางพารา
มีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำช่วยให้เกิดการแปรรูปในประเทศได้มากขึ้น
และมีคุณค่าตรงกับความต้องการของตลาด และจะส่งผลดีกลับมายังเศรษฐกิจไทย
ทำให้เกิดเงินลงทุนและส่งผลดีต่อเกษตรกรด้วย
สำหรับการลงนามความร่วมมือของ กยท.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ครั้งนี้จะช่วยต่อยอดงานวิจัยไปสู่การผลิต และนับเป็นก้าวสำคัญต่อกิจการยาง
และด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการและภาครัฐ
ก็จะส่งผลให้เกิดกลไกประชารัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท.ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง
กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็นเพียงประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยางพาราอันดับ 1
ของโลก แต่มีอีกหลายประเทศที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
และส่งออกยางพาราสู่ตลาดโลกได้เช่นเดียวกับประเทศไทย
ดังนั้น ประเทศไทยควรมีการปรับกลยุทธ์จากการเป็นประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยางพาราให้เป็นประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหรือตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยงานวิจัย
นวัตกรรม
การพัฒนากระบวนการผลิตและมาตรฐานสินค้าต้องมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายณกรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา
ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมืองานวิจัยยางร่วมกันระหว่างหน่วยงานเกิดขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด
สำหรับการลงนามระหว่าง กยท.และ สกว. ครั้งนี้
เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสององค์กรหลักด้านการวิจัยและพัฒนายางในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัย
การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์
การประชุมสัมมนาวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบได้ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ
โดย กยท.และ สกว.จะร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์วิจัยยางพาราแห่งชาติ (พ. ศ. 2560 – 2564)
เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันรวมทั้งให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและการต่อยอดผลการวิจัยยาง
และจะมีการจัดการประชุมสัมมนาวิชาการยางที่ตรงกับภารกิจของทั้งสองฝ่าย
รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านยางเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองหน่วยงาน-สำนักข่าวไทย
