กรุงเทพฯ 28 เม.ย.-อดีตอาจารย์ศัลยแพทย์รพ.พระมงกุฎเกล้าวิเคราะห์เปิด26บาดแผลแตงโม สงสัยปมจำลองใบพัดเรือ-ตกท้ายเรือ
พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตอาจารย์ศัลยแพทย์รพ.พระมงกุฎเกล้า โพสต์เปิดเผยวิเคราะห์บาดแผลที่ขาของแตงโม 26 บาดแผล สามารถแบ่งได้เป็น 10 กลุ่ม เกิดก่อนเสียชีวิต มีลักษณะแตกต่างกันทั้งประเภท, ทิศทาง, ตำแหน่ง อาทิ บาดแผลฉีกขาด เกิดจากวัตถุมีคม /บาดแผลถลอก บาดแผลฟกช้ำ / บาดแผลฟกช้ำเกิดจากการกระแทกของแข็ง
ส่วนทิศทางของแผลมีทั้ง แนวยาว แนวขวาง แนวเฉียง ในตำแหน่ง ด้านใน ด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลัง ซึ่งยากที่จะอธิบายด้วยกลไกการบาดเจ็บจากใบพัดเรือเพียงอย่างเดียว อีกทั้งใบพัดอยู่ในระนาบไหนจึงเกิดบาดแผลคนละทิศทาง
ส่วนการจำลองเหตุการณ์ การนำใบพัดเรือมาจับหมุนช้าๆ ในอากาศ ทาบกับแผล แตกต่างจากในน้ำ เพราะความเร็วใบพัดเรือสูงมาก และในน้ำมีความหนืด มากกว่าอากาศ 50 เท่า มี resistance และ drag coefficient มากกว่า พร้อมตั้งข้อสังเกต ผู้หญิงสูง 167 เซนติเมตร ถ้าตกจากท้ายเรือด้านซ้ายขณะหันหน้าไปหัวเรือ แล้วโดนใบพัด โดยใช้ใช้ฟิสิกส์คำนวน การร่วงแนวดิ่งตามแรงโน้มถ่วงของโลกกับความเร็วเรือแนวระนาบ ให้กางขาเต็มที่ ส่วนของร่างกายที่อาจโดนใบพัดได้ น่าจะเป็นเท้าขวาหรือขาขวาด้านนอก
ส่วนเรื่องกระแสน้ำท้ายเรือดูดเข้าหาใบพัดนั้น แหกกฎของนิวตันกับแบร์นูลลี ว่าด้วยเรื่องแรงและกลศาสตร์การไหล Mercury 300 propeller เมื่อเกิดการหมุน จะดึงน้ำที่อยู่ข้างหน้าผ่านใบพัดและผลักน้ำไปทางข้างหลัง หน้าต่อใบพัดจะมีความดันต่ำ (แสดงเครื่องหมายลบสีแดง) หลังต่อใบพัดจะมีความดันสูง (high pressure แสดงเครื่องหมายบวกสีเขียว) ขณะใบพัดกำลังหมุน forward thrust ไม่ว่าความเร็วต่ำหรือสูง หลังต่อใบพัดจะผลักตลอด แต่ถ้าร่างกายอยู่หน้าต่อใบพัด (ด้าน Skeg) เครื่องหมายลบสีแดง ก็มีโอกาสถูกดูดไปโดนใบพัดฟันได้ ถ้าตกทางหน้าเรือ กระแทกกับตัวเรือ ไถลไปกับท้องเรือ ชนกับ Skeg และโดนใบพัดเรือ ก็เป็นหลายกลไก พร้อมทิ้งท้ายไม่ว่าตกจากส่วนไหนของเรือ ก็น่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ตำรวจก็ทำงานเหนื่อยมากกับคดีนี้ ได้เวลา move on ทำคดีอื่น เป็นหน้าที่ของอัยการและศาลต่อไป -สำนักข่าวไทย