กรุงเทพฯ 1 เม.ย.-กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยหนุนอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ประมง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รุกตลาดออนไลน์-ออฟไลน์ นำร่อง 10 จังหวัดภาคกลาง คาดสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 20 ล้านบาท
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สถาบันอาหารดำเนินงานโครงการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงจากผลผลิตประมงเพาะเลี้ยงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดเห็นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประมง ในปีงบประมาณ2565 วงเงิน 3,090,000 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานใน 10 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2564 พบว่า ผลผลิตประมงน้ำจืดในพื้นที่ภาคกลางสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรก มีความก้าวหน้าไปกว่า ร้อยละ 36 มีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 14 กิจการ อาทิ ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลานิล ปลากะพง หอยเชลล์ ปลาดุก ปลาสลิด ปลาช่อน ปลากระดี่ เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แนะนำพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์จนได้สูตรและเข้าสู่กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์น้ำแปรรูปพร้อมทานออกสู่ตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียว พัฒนาไปเป็นปลาช่อนแม่ลาเค็มน้อย ผลิตภัณฑ์ปลานิลแดดเดียวพัฒนาไปเป็นน้ำพริกปลาย่างแห้ง ผลิตภัณฑ์ปลาเค็มรวนพร้อมทานพัฒนาไปเป็นซุปผักปลาก้อน ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกกรอบปรุงรสพัฒนาไปเป็นสแน็คขอบหอยเชลล์ ผลิตภัณฑ์ปลาดุกเส้นทอดพัฒนาไปเป็นปลาดุกหยอง ผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวพัฒนาไปเป็นปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแดดเดียว ปลาสลิดทอดกรอบ น้ำพริกปลาสลิด พัฒนาไปเป็นสแน็คจากก้างปลาสลิด ข้าวเกรียบปลาสลิด และผลิตภัณฑ์ปลาร้า น้ำปลาร้า พัฒนาไปเป็นปลาร้าผงอัดก้อน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนราว 20 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย