กรุงเทพฯ 28 มี.ค.-570 วัน กับงานอีเวนต์หนังสือที่ห่างหาย จากผลกระทบโควิด-19 เยาวชน ยังสนใจอ่านหนังสือในงาน “สัปดาห์หนังสือ” ควบคู่สะสม NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัลจากงานหนังสือเป็นอันดับต้นๆ ในโลก
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดพื้นที่สถานีกลางบางซื่อจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 งานในครั้งนี้จัดภายใต้ธีม “อนาคต” การบรรจบกันของการเดินทางทั้งด้านความคิดและการคมนาคมขนส่ง สร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ ในพื้นที่ศูนย์กลางของการเดินทางแห่งใหม่ของประเทศไทยในอนาคต จัดงาน ระหว่าง 26 มีนาคม-6 เมษายน 2565 นี้ เวลา 10.00-21.00 น.
นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้งานอีเวนต์การจำหน่ายหนังสือ ห่างหายไปถึง 570 วัน ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้น ประกอบกับ สถานที่จัดงานตั้งอยู่ใจกลางเมือง สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย จึงเชื่อมั่นว่าตลอดทั้งงานจะมีผู้เข้าชมงานราว 6-7 แสนคน และมียอดขาย ราว 500-600 ล้านบาท และปีนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว มีการจัดอีเวนต์ต่างๆได้ ก็เชื่อว่าปีนี้ จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในเรื่องการขายหนังสือ และคาดว่าจะเติบโตมูลค่าการจำหน่ายหนังสือจะโตมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปี 2563 มูลค่ายอดขายโดยรวมของธุรกิจหนังสืออยู่ที่ ประมาณ 13,000 ล้านบาท
“เบื้องต้นในงานครั้งนี้ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับ เป็นอย่างดี คาดว่าเกิดจากการคิดถึงงานหนังสือ ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่น ก็เข้ามาร่วมงาน โดยให้ความสวนใจนิยายลักษณะ light novel เป็นภาษาง่ายๆ เด็กๆมารอเข้างานตั้งแต่เช้า เพื่อมาซื้อนิยาย และการ์ตูนและสะสมของที่ชื่นชอบ และในกรณีเราใช้ NFT ก็ถึงดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาสะสมมากขึ้น” นางสาวทิพย์สุดา กล่าว
สำหรับภาพรวมธุรกิจหนังสือและอุตสาหกรรมการพิมพ์ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ทั้งการล็อกดาวน์ การที่จัดงานอีเวนต์ไม่ได้ ส่งผลให้ มูลค่าตลาดลดลงต่อเนื่อง ปี 2562 เหลือ 15,900 ล้านบาท และปี 2563 ลดลงเหลือเพียง 12,500 ล้านบาท ในขณะที่สมาชิกสมคมฯผู้จัดพิมพ์ ได้รับผลกระทบ ลดทั้งการจ้างงาน และหลายสำนักพิมพ์มีการปิดตัวไป โดยปี 2562 มีสมาชิก สำนักพิมพ์458 ราย, ปี 2563 ลดลงเหลือ 428 ราย, ปี 2564 มี 423 ราย และล่าสุดขณะนี้เหลือเพียง 385 ราย
สำหรับภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 คือ การมุ่งสู่ธุรกิจออนไลน์ ปี 2563 ยอดขานหนังสือ เติบโตจากออนไลน์ ประมาณ 20% โดยตัวเลขที่เติบโตมาจาก Market Placeเช่น Shopee, Lazada ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือและ ร้านอิสระกลับได้รับผลกระทบจากการที่ Market place เติบโตชัดเจน มูลค่ายอดขายโดยรวมของธุรกิจหนังสือ อยู่ที่ ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยอยู่ที่ร้านเชนหนังสือ มากกว่า 50% และกลุ่ม Market place ที่เติบโตอย่าง มากในช่วง 2 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มหนังสือประเภท E-Bookก็เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดยผู้ที่มีสัดส่วนการขายเบอร์ต้นๆคือ “Meb” ในขณะที่กลุ่มของร้านหนังสือก็มีการ ปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถแข่งขันอย่างเท่าทันโดยในปีที่ผ่านมาก็มีการทำ APP E-Library เพื่อสนับสนุนห้องสมุดของโรงเรียน ส่วนอีกกลุ่ม หนึ่งที่เติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีหลัง คือ กลุ่มนักเขียนอิสระที่มีชื่อเสียงมาเปิดเพจ ทำหนังสือขายเองทั้งในเพจ มีวิธีการโปรโมทตัวเองผ่าน Social media ส่งผลกระทบกับหน้าร้าน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเช่นกัน
นายธีรนัย โสตถิปิณฑะ กรรมการสมาคม สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในงานนี้ ยังเป็นครั้งแรกของงานสัปดาห์หนังสือในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้เก็บ NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะเป็นอันดับแรกๆของโลกที่มีการใช้ NFT ในงานหนังสือ โดย NFT เป็นรูปภาพศิลปะจาก “มุนิน” ศิลปินนักวาดภาพชาวไทยชื่อดังที่มีเพียง 25,000 ชิ้น 5 แบบ พร้อมด้วยไอเท็มลับ NFT ชิ้นที่ 6 (จำนวนจำกัด) ที่มีให้ผู้ที่สะสมครบทั้ง 5 แบบมาเลือกเก็บสะสมตลอด 12 วันเพียงซื้อหนังสือครบ 1,000 บาทภายในงาน แล้วนำใบเสร็จมาแลก NFT ได้ที่บูทกิจกรรม NFT หมายเลขบูท B94.-สำนักข่าวไทย