กรุงเทพฯ 8 มี.ค. – อย.ร่วมกับ บก.ปคบ. เผาทำลายผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลางที่มิใช่ยาเสพติดให้โทษ น้ำหนักกว่า 26,326 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ปฏิบัติงานเชิงรุกในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภควางจำหน่ายในท้องตลาด โดยหลังจากการสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ไม่ว่าจะเป็นยาปลอม ยาไม่มีทะเบียนตำรับ ยาชุด ยาสัตว์ ยาเพิ่มสมรรถภาพเพศชาย อาหารปลอม อาหารไม่มีทะเบียน อาหารไม่บริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มสมรรถภาพทางเพศหรือลดน้ำหนัก เครื่องสำอางปลอม เครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ เครื่องสำอาง ไม่มีเลขที่ใบรับแจ้ง และเครื่องมือแพทย์ประเภทถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นต้น ที่ถูกยึดเป็นของกลางตั้งแต่ปี 2553–2564 รวมคดีถึงที่สุดแล้ว 196 คดี ซึ่งเป็นของกลางที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ จึงได้จัดให้มีการเผาทำลายของกลางดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหลุดรอดไปวางจำหน่ายต่อในท้องตลาด ณ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ น้ำหนักรวมมากกว่า 26,326 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ในฐานะหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ จะทำการตรวจสอบการผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในท้องตลาด หากพบว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนฉวยโอกาสกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การลักลอบผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง บก.ปคบ.จะได้ร่วมกับ อย.ปฏิบัติการเชิงรุกปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.และตำรวจ บก.ปคบ. จะร่วมกันเฝ้าระวังปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายยังคงอยู่ในสังคมไทย และหวังให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังของภาครัฐ หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ อีเมล 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสายด่วน บก.ปคบ. 1135 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย