กรุงเทพฯ 1 มี.ค.-ปตท.คาดราคาน้ำมันดิบแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นช่วงสั้นๆ ยืนยันบริหารจัดการไม่ขาดแคลน วอนทุกฝ่ายประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบราคาแพง คาดราคาพลังงานพุ่งอาจทำให้รายได้สูงกว่าปี 64 และเตรียมนำเข้า LNG เฉียด 10 ล้านตัน
จากกรณีผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนท์ พุ่งถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กระทบมายังต้นทุนราคาน้ำมันและไฟฟ้านั้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ติดตามสถานการณ์ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และวางแผนนำเข้าด้วยเครือข่ายเทรดดิ้งของ ปตท.ทั่วโลก ขอยืนยันว่า พลังงานไม่ขาดแคลน แต่ราคาก็ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะช่วยตรึงราคาตามนโยบายรัฐบ้าง แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ในภาวะเช่นนี้ก็ต้องร่วมกันรณรงค์ประชาชนร่วมประหยัดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
สำหรับปี 2564 ปตท.ร่วมอุดหนุนให้ส่วนลดราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มูลค่า 6.3 ล้านบาท ในส่วนของ NGV มีภาระจากการตรึงราคาขายปลีก ในไตรมาส 4/64 ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 มูลค่า 449 ล้านบาท ส่วนที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมืออุดหนุนเพิ่มเติมในปีนี้ ก็ต้องพิจารณาตามสถานการณ์และนโยบายรัฐบาล
โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ในประเทศผลิตไม่เพียงพอ ปตท.ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น เบื้องต้นในปีนี้จะนำเข้ารวมเกือบ 10 ล้านตัน (สัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน/ปี และระยะสั้น 4.5 ล้านตัน/ปี) ซึ่งไทยไม่ได้ซื้อตรงจากรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออก LNG อันดับ 5-6 ของโลก ราว 20 ล้านตัน/ปี จากปริมาณค้าขายในโลกราว 500-600 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาคว่ำบาตรรัสเซีย ก็ส่งผลด้านจิตวิทยา ทำให้ราคาแอลเอ็นจีโลกขยับขึ้นไปด้วย โดยราคาเฉลี่ยไตรมาส 1/65 คาดจะอยู่ที่ 26.3 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดราคาเฉลี่ย 84-89 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาที่แตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะเป็นระยะสั้นๆ ขึ้นกับสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 6 เดือน สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ประกอบกับหากอิหร่านกลับมาส่งออกได้ จากที่ขณะนี้ถูกคว่ำบาตรกรณีทดลองนิวเคลียร์ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงได้ ส่วนค่าการกลั่น ไตรมาส/65 คาดอยู่ที่ราว 6.2-7.2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
“ปีนี้จากราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ก็คาดว่าจะทำให้รายได้ของ ปตท. สูงกว่าปีที่แล้วที่กว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ในส่วนของกำไร ก็ต้องดูว่า ธุรกิจในกลุ่มได้รับผลบวกผลลบแตกต่างกันไป แต่ ปตท.ก็ได้ปรับตัวในด้านการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ๆ และปรับตัวพร้อมรับทุกสถานการณ์” นายอรรถพล กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของผลประกอบการ ปตท. ประจำปี 2564 ซีอีโอ ปตท. ระบุว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงความสามารถในการรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2564 กลุ่ม ปตท. ส่งเงินเข้ารัฐกว่า 82,500 ล้านบาท โดย ปตท. ยังคงยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามภารกิจหลักเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ เพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืนสู่ประเทศ ตลอดจนนำเสนอนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ ยกระดับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพระดับสากล เพื่อมาตรฐานชีวิตที่ดีของคนไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ พร้อมผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแผนงานและงบลงทุน 5 ปี กลุ่ม ปตท. (พ.ศ.2565-2569) รวมกว่า 9.4 แสนล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”
Future Energy : มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ในปี 2573 (ค.ศ.2030) พร้อมจัดตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) บริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย รวมถึงจัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC ในการสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain)
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่า EV บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV นอกจากนี้ ARUN PLUS ยังได้จำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลศักยภาพ พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go ตลอดจนจัดตั้งบริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ
Beyond : รุกธุรกิจใหม่ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) โดยมีบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อินโนบิก ได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ให้กับประเทศ เพื่อดูแลประชาชน
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมัน และเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistics & Infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization).-สำนักข่าวไทย