พรรคเพื่อไทย 22 ก.พ. –“ชูศักดิ์” เปิดรายละเอียด ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง – พ.ร.ป.เลือกตั้ง ฉบับพรรคเพื่อไทย พร้อมเดินหน้าทวงคืนการเลือกตั้ง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตยพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึง รายละเอียดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. . และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. ฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขในส่วนที่บทบัญญัติเดิมมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และเพิ่มในส่วนของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน มุ่งหมายในการคืนประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้
สำหรับร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับของพรรคเพื่อไทยนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ใช้วิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารด้วย 100 คน เมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้นก็เอาคะแนนรวมที่พรรคได้รับมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนในส่วนนี้ ก็จะได้ว่าพรรคนี้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเต็มเท่าไร เบื้องต้นก็จะคิดจากจำนวนเต็ม ส.ส. 100 คนก่อน หากได้ ส.ส.ครบ 100 ก็ถือว่าจบ แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน เช่นคำนวณแต่ละพรรคแล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 98 คน ขาดไปอีก 2 คน ก็จะไปคิดเศษจากพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าใจง่ายๆ เศษที่เป็นจุดทศนิยม โดยพรรคเพื่อไทยเห็นว่าควรให้สิทธิแก่พรรคการเมืองที่ผลจากการคำนวณครั้งแรกไม่ถึงเกณฑ์ค่าเฉลี่ย เพื่อเปิดโอกาสให้กับพรรคการเมืองต่างๆ โดยหลักการนี้เคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2554 ขณะเดียวกันกำหนดให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถจดจำเบอร์พรรคและเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบได้ง่าย และ3. อีกทั้งยังได้เสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ เช่น การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน เนื่องจากมีการเพิ่มเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้งที่นอกจากต้องเป็นเขตติดต่อกันแล้วต้องให้ประชากรของทุกๆ เขตแตกต่างกันไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และแก้ไขเรื่องระยะเวลาต่างๆ เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชน
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทยได้เสนอแก้ไขหลายมาตรา รวมถึงการให้ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เนื่องจากสร้างความยุ่งยากและข้อจำกัดให้ประชาชนพอสมควร และยังเสนอให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเทียบเท่ากับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพราะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองควรเป็นสิทธิเสรีภาพ เป็นสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ยังแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดกรณีการยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำ ควบคุมสั่งการทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค เพราะพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในสังคมการเมืองการขอคำปรึกษาหารือกับบุคคลต่างๆ ควรเป็นเรื่องปกติ โดยพรรคยังเป็นอิสระในการทำหน้าที่หรือตัดสินใจ เรื่องนั้นไม่ควรเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ จึงมีการเพิ่มข้อความในบทบัญญัตินี้เป็นวรรคสองว่า “การให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำใดๆ ก็ตาม ไม่ถือเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการ ถ้าการให้คำปรึกษานั้นเป็นเพียงการเสนอแนะ ทำความเข้าใจ โดยที่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรค”
สำหรับการจัดทำไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยที่จะจัดทำเพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก แต่ที่ผ่านมาในการปฏิบัติยังเกิดความขัดแย้งกับความเป็นจริงการให้สมาชิกเพียง 50 คนมาลงคะแนนไม่น่าจะเรียกได้ถนัดนักว่าเป็นไพรมารี หลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวและเป็นรูปธรรมว่ามีการไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง และควรยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ เห็นได้จากการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้จริง และในร่างยังกำหนดให้การเลิกพรรคการเมืองจะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่โดยคะแนนเอกฉันท์ การยุบพรรคการเมือง มีความเหมาะสมไม่ยุบกันได้ง่ายๆ การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่สำคัญจริงๆ ไม่ใช้การเลิกหรือการยุบพรรคเช่นเฉพาะการล้มล้างการปกครองและต้องมีพยานหลักฐานเป็นประจักษ์ ไม่ใช้การเลิกหรือยุบพรรคเป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองลงเลือกตั้งมาแล้วและได้เป็น ส.ส. แต่วันดีคืนดีมาเลิกพรรคเพื่อย้ายไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งเท่ากับพูดปดกับประชาชน จึงเสนอว่าถ้าจะมีการทำอย่างนี้ก็จะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ ที่จะต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มีมติคณะกรรมการบริหารพรรคเลิกพรรคการเมืองเลย ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับการทรยศประชาชน นอกจากนั้นเราเสนอบทเฉพาะกาลสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าหากมีการทำตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วให้ทำได้ทุกเขต เมื่อมีการแบ่งเขตใหม่อาจมีผลทำให้เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คนก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากมีเขตใหม่และมีสมาชิกอยู่ในเขตใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้วก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องเลือกตัวแทนขึ้นอีก.สำนักข่าวไทย