รัสเซีย 22 ก.พ. – ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในประกาศรับรองภูมิภาคที่แยกตัวจากยูเครนของกลุ่มกบฏทางตะวันออกของยูเครน ให้เป็นรัฐอิสระ คาดจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งกับยูเครนลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกแถลงการณ์ถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ในประเทศ เรื่องวิกฤติยูเครน ก่อนลงนามกฤษฎีกา ยอมรับการแยกตัวเป็นอิสระของสาธารณรัฐโดเนสตก์และสาธารณรัฐลูฮันสก์ ดินแดนที่กลุ่มกบฏในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ครอบครองอยู่ พร้อมระบุถึงการก่อกำเนิดของยูเครนยุคโซเวียตว่า ยูเครนไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของการเป็นรัฐจริงๆ เพราะยูเครนยุคปัจจุบันถูกสร้างขึ้นโดยรัสเซียทั้งหมด หรือพูดให้ชัดคือ โดยพรรคบอลเชวิค คอมมิวนิสต์รัสเซีย
ปูตินยังกล่าวถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยบอกว่า หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของเขา คือ การขัดขวางไม่ให้ยูเครนได้เป็นสมาชิกนาโต พร้อมกับกล่าวหานาโต รวมถึงสหรัฐ ว่า กำลังเปลี่ยนยูเครนเป็นเวทีแห่งสงคราม เพิกเฉยต่อความกังวลด้านความปลอดภัยของรัสเซีย และว่าการรับยูเครนเป็นสมาชิกจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดการโจมตีอย่างกะทันหันต่อรัสเซียมากขึ้น
คาดว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดจะส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งกับยูเครนลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น เริ่มจากจะเป็นการยุติการเจรจาหยุดยิงในพื้นที่ที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี แม้จะมีการละเมิดคำสั่งหยุดยิงเป็นระยะ ขณะที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกเชื่อว่า ท่าทีดังกล่าวของปูตินจะเปิดทางให้กองทัพรัสเซียยกกำลังเข้าไปในยูเครนผ่านทางภูมิภาคด้านตะวันออกดังกล่าว จากเดิมที่ยูเครนถูกปิดล้อมอยู่แล้วโดยทหารรัสเซียกว่า 150,000 นาย แม้รัสเซียย้ำว่าไม่มีแผนบุกยูเครนและสหรัฐ และชาติตะวันตกกำลังเชื่อมากขึ้นว่า ปูตินเตรียมที่จะบุกโจมตียูเครนในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ รัสเซียให้การหนุนหลังกลุ่มกบฏในสาธารณรัฐโดเนสตก์และสาธารณรัฐลูฮันสก์ ซึ่งจับอาวุธสู้รบกับกองทัพยูเครนมาตั้งแต่ปี 2557 และที่ผ่านมาได้ออกหนังสือเดินทางให้กับชาวรัสเซียจำนวนมากในสาธารณรัฐทั้ง 2 แห่งดังกล่าว. – สำนักข่าวไทย