กรุงเทพฯ 9 ก.พ.-ศาลปกครองพิพากษายกฟ้อง BTS เรียกค่าเสียหายปมแก้ไข TOR ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนต่อขยายบางขุนนนท์-มีนบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ก.พ.) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในเวลา 10.00 น.
โดยศาลสรุปท้ายคำพิพากษา ดังนี้ ศาลพิจารณาว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จะกำหนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อทดแทนความเสียหายตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ย่อมต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการเตรียมงานตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการประกวดราคา การยื่นซองประกวดราคา
อย่างไรก็ดี ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติมนั้น ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมาย เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าที่ปรึกษาทางเทคนิค และค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นการดำเนินกิจการค้าตามปกติของผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว โดยเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีเอกสารหลักฐานระบุว่าได้มีการลงทุนใช้จ่ายไปจริงแต่อย่างใด
อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนรวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทน 70 คะแนนนั้น ก็มิได้เป็นผลโดยตรงหรือเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อยื่นข้อเสนอโครงการพิพาทเป็นเงินจำนวน 500 ,000 บาทนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และเมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้
ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมศาล และค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า โดยที่มาตรา 72/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีชดใช้ค่าธรรมเนียมศาล หรือค่าทนายความแทนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ คำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง.- สำนักข่าวไทย