กรุงเทพฯ 8 ก.พ. -กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้ชิด ยันการปรับขึ้นราคา 1 บาท /กก. เริ่ม 1 เม.ย. หรือไม่ จะคำนึงถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพ และปรับขึ้นราคาเป็นทางเลือกสุดท้าย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่ราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กระทรวงพลังงานก็ได้ใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยเหลือโดยการอุดหนุนราคาขายให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่งและค่าบริการของแต่ละร้านค้า) โดยเริ่มอุดหนุนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนร้านอาหารและค่าครองชีพของประชาชนจากผลกระทบ โควิด-19 ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือ ณ ปัจจุบัน ราคาขายที่แท้จริงจะสูงถึง 434 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยจนถึง 6 ก.พ. 65 เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มไปแล้ว 25,218 ล้านบาท ประกอบกับการดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็มีผลให้บัญชีกองทุนน้ำมันหดตัวเหลือ 9,166 ล้านบาท และส่งผลภาพรวมกองทุนน้ำมัน ติดลบไปแล้ว 16,052 ล้านบาท ในขณะที่วงเงินไหลออกของกองทุนฯก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆราว 8 พันล้านบาท/เดือน
ทั้งนี้ ด้วยสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปอุดหนุนราคาเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนอยู่ในภาวะติดลบค่อนข้างมาก ทำให้มีแนวโน้มว่า หลังสิ้นสุดช่วงตรึงราคา 31 มี.ค.65 แล้วอาจต้องบริหารด้วยการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแบบทยอยขึ้น 1 บาท/กก.ทุกไตรมาส หรือปรับขึ้นรอบแรกจาก 318 บาท/ถัง เป็น 333 บาท/ถัง แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมด้านค่าครองชีพในขณะนั้น หากมีสถานการณ์ที่ภาพรวมราคาสินค้าและบริการในช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมต่อไปและเป็นทางเลือกสุดท้าย
อย่างเช่นสถานการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กบง. ก็ได้มีมติขยายการตรึงราคาที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งเดิมสิ้น 31 มกราคม 2565 ก็ได้ขยายถึง 31 มีนาคม 2565 รวมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยให้ส่วนลดค่าก๊าซ LPG ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 เช่นกัน
ทั้งนี้ โครงสร้างราคา LPG ของไทยอ้างอิงตามการปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลกในส่วนของราคา ณ โรงกลั่น โดยกำหนดให้เปลี่ยนแปลงทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดความผันผวน โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย