กรุงเทพ 25 ม.ค. – โออาร์-บางจากฯ รับภาระดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โอดค่าการตลาดต่ำ รมว.พลังงาน สั่งติดตามสถานการณ์วันต่อวัน หลังคลัง ปฏิเสธ ลดภาษีดีเซล คนใช้กลุ่มเบนซินรับภาระแทน ต้องจ่ายค่าการตลาดอัตราสูง ล่าสุดราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญ ด้าน ปตท. ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา เน้นความต่อเนื่องการจัดการก๊าซธรรมชาติ
ผุ้สื่อข่าว รายงานว่า ราคาน้ำมันของไทย วันที่ 25 ม.ค.65 ในส่วน ของปั๊มพีทีทีสเตชั่น และบางจากฯ ขึ้นเฉพาะ กลุ่มเบนซิน โดย เบนซิน, แก๊สโซฮอล์อี10 ขึ้น 40 สต. ส่วนอี85 และอี20 ขึ้น 60 สตางค์ ส่วนดีเซล บางจากฯ , บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ และ บมจ.ไออาร์พีซี …ไม่ขยับขึ้นราคา ช่วยตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจาก 3 ราย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ รัฐบาล แต่รายอื่นๆ ขยับดีเซลขึ้นไปแล้วราคาระหว่าง 30.24- 31.44 บาท/ลิตร เนื่องจากหากตรึงราคาก็จะไม่มีกำไร
ในขณะที่ เครื่องมือดูแลราคาน้ำมัน โดยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีปัญหาอุดหนุนในปริมาณสูง ฐานะกองทุนฯล่าสุด 23 ม.ค.65 ติดลบ12,335 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ24,163 ล้านบาท และ บัญชี น้ำมัน 11,828 ล้านบาท เงินไหลออกราว 6,600 ล้านบาท/เดือน กองทุนฯจ่ายอุดหนุนราคาดีเซลสูงถึงลิตรละ 3.09 บาท และดูราคาก๊าซหุงต้ม ระดับ 318 บาทต่อถัง(15กิโลกรัม) จนถึงสิ้นมี.ค.นี้เช่นกัน กองทุนฯต้องอุดหนุน LPG สูงถึง 14.86 บาทต่อกก.
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของกระทรวงการคลังที่ระบุยังไม่ลดอัตราภาษีดีเซลที่จัดเก็บ 5.99 บาท/ลิตร โดยให้เป็นภาระของกองทุนน้ำมันฯในการดูแลไปก่อน ดังนั้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน มอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด แบบวันต่อวัน และเกลี่ยค่าการตลาดระหว่างกลุ่มดีเซลและกลุ่มเบนซิน ซึ่งล่าสุด กลุ่มเบนซินค่าการตลาดสูงกว่า 2 บาท/ลิตร ( 2.75-3.06 บาท) และกลุ่มดีเซลของ บางจากฯและโออาร์ อยู่ที่ 75 สตางค์ต่อลิตร ในขณะที่ โออาร์และบางจากฯ เริ่มทักท้วง ว่าจะชี้แจงผู้ถือหุ้นอย่างไร เพราะกำไรหดตัวลง จากการดูแลดีเซล ซึ่งค่าการตลาดกลุ่มเบนซินแม้สูง แต่ยอดจำหน่ายต่ำกว่า กลุ่มดีเซล โดย ล่าสุดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลผ่อนคลายเรื่องการควบคุมโควิด-19 ส่งผลยอดใช้ดีเซลของประเทศก้าวกระโดกแตะประมาณ 70 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มเบนซินอยู่ที่ราว 30 ล้านลิตรต่อวัน
สำหรับเงินอุดหนุนของกลุ่มดีเซลที่สูงขึ้น มาทั้งจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งขึ้น ,ราคาผลปาล์มที่สูงถึง 11 บาท/กก.และส่งผลให้ราคาบี100 สูงถึง 57 บาท/ลิตร ซึ่งมีส่วนผสมในดีเซลถึงร้อยละ 7 หรือบี 7และรวมไปถึงยอดใช้ดีเซลที่ก้าวกระโดด
ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เตรียม กู้เงิน 3 หมื่นล้านบาทมาดูแลสภาพคล่องของกองทุนฯโดยก้อนแรก ครม.เห็นชอบให้กู้ 2 หมื่นล้านบาท และเตรียมเสนอขอ ครม.เห็นชอบอีก 1 หมื่นล้านบาท โดยเงินกู้ก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต่างๆ แข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ยในวันที่ 31 มกราคมนี้ และคาดว่าเงินจะเริ่มเข้ามาช่วยกองทุนฯในเดือนเมษายนนี้
ด้านบมจ.ไทยออยล์รายงาน สถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในยุโรปตะวันออกตึงตัว เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม ส่งผลให้สหรัฐฯสั่งให้ครอบครัวพนักงานจากสถานทูตในยูเครนและพลเมืองทุกคนควรพิจารณาการเดินทางออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบสหรัฐ-ยุโรป ปรับตัวลดลง หลังตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่เร็วกว่าคาด ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้ลดความน่าดึงดูดของการถือครองสัญญาน้ำมันดิบ แต่ในส่วนของราคาน้ำมันใน ตลาดสิงคโปร์ขยับขึ้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยดีเซลราคา 10.2.13 เหรียญต่อบาร์เรลแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียที่ตึงตัว ท่ามกลางระดับน้ำมันคงคลังในภูมิภาคยุโรปที่ลดลง ราคาเบนซิน 100.90 เหรียญต่อบาร์เรล แรงหนุนจากการคลายข้อจำกัดในการขับขี่ในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ดัชนีการขับขี่ในอินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมาร์ ได้แจ้งถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา โดยจะยังคงเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น ปตท. และ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการยานาดา ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และเตรียมการเพื่อความต่อเนื่องในการบริหารก๊าซธรรมชาติ
อนึ่ง ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาตั้งแต่ปี 2541 ในปัจจุบันนำเข้าที่ปริมาณ 965 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยรับก๊าซฯ จากแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาปริมาณ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นประมาณ 10% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ในอุตสาหกรรม และภาคขนส่งในรูปของ NGV เช่นเดียวกับก๊าซฯ จากอ่าวไทย และ LNG .-สำนักข่าวไทย