กรุงเทพฯ 14 ม.ค.-“เฉลิมชัย” ระบุราคาเนื้อหมูที่ปรับสูงขึ้น จะเข้าสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยเป็นไป แต่สั่งกรมปศุสัตว์เร่งเดินหน้าทุกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์เรียกประชุมด่วนวันนี้ เพื่อดำเนินมาตรการหลังประกาศพบโรค ASF ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรและการขยายกำลังการผลิตหมูขุนเพื่อแก้ปัญหาราคาเนื้อหมู
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตามที่วางไว้ ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยาว ทั้งนี้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงนั้น มาจากหลายปัจจัย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณหมูมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์ม และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มหมูของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคหลายโรค ทำให้เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์มและเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ มาตรการระยะเร่งด่วนนั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม – 5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ขยายกำลังการผลิตแม่สุกร เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด สำหรับมาตรการระยะยาวคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด (Good Farming Management: GFM) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งราคเนื้อหมูจะกลับสู่ภาวะปกติแน่นอน แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า วันนี้ (14 ม.ค.) เรียกประชุมด่วนที่สุด ทุกหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ทั้งปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กองสารวัตรและกักกัน สำนักกฎหมาย สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ส่วนสุขภาพสัตว์ ส่วนมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์เพื่อเร่งดำเนินมาตรการควบคุมโรค ASF ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้จะเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินค่าชดใช้ในการทำลายหมู การส่งเสริมการเลี้ยงหมูตามมาตรการและการขับเคลื่อนในการฟื้นฟูการเลี้ยงตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ ผู้เลี้ยงมั่นใจในอาชีพและผู้บริโภคได้ได้ซื้อเนื้อหมูในราคาไม่แพงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ตามที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กำหนดใน Terrestrial Animal Health Code (CHAPTER 15.1. INFECTION WITH AFRICAN SWINE FEVER VIRUS) สามารถขอคืนได้ในรูปแบบ country free zone free หรือ compartment free โดยต้องเฝ้าระวังโรค 3 ปีและไม่มีหมูป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF 3 ปีก่อนยื่นขอคืนสถานภาพปลอดโรค สินค้านำเข้าต้องมีหลักฐานแสดงว่า ไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks) ที่ เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ มีหลักฐานการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้ายและร่วมกับมีการการทำลายหมูที่ติดเชื้อ ASF
ทั้งนี้ขอความร่วมมือผู้เลี้ยงให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว หากพี่มีข้อสงสัยหรือพบหมูป่วยตายผิดปกติ แจ้งที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย