ราชบพิธ 17 ม.ค. – หอการค้าไทยแจงผลกระทบปัญหาน้ำท่วมครอบคลุม 12 จังหวัด หากยืดเยื้อ 2-3 เดือนจะสร้างความเสียหายกว่า 85,000 ล้านบาท เสนอเร่งแนวทางฟื้นฟูและ 5 มาตรการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมซ้ำซากระยะยาว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบปัญหาอุทกภัยครอบคลุม 12 จังหวัดภาคใต้ จากทั้งหมด 14 จังหวัด จากการสำรวจหอการค้าภาคใต้และรายงานหอการค้าส่วนกลางทราบผลกระทบเสียหาย หากภาวะน้ำท่วมสามารถยุติได้ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่เกิน 15,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม หากปัญหายืดเยื้อ 2-3 เดือนข้างหน้าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 85,000-120,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5-0.7 ต่อจีดีพี ความเสียหายจะครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในส่วนของยางพาราถ้าน้ำท่วมเกิน 20 วัน และปาล์มน้ำมันหากท่วมขังเกินกว่า 1 เดือน ทำให้ต้นยางพาราและปาล์มน้ำมันต้องตาย โดยพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด ต้องใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานนับปี
นอกจากนี้ ยังมีความเสียหายการทำปศุสัตว์ที่โคและกระบือต้องล้มตายจำนวนมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจากการติดตามส่วนใหญ่กระทบแหล่งท่องเที่ยวทะเลอ่าวไทยมีการยกเลิกการจองห้องพักประมาณร้อยละ 10-20 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปเที่ยวฝั่งอันดามันแทนอาจทำให้ผลกระทบไม่มาก หากมีการจัดงานกระตุ้นการท่องเที่ยวจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่ช่วงสงกรานต์นี้
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีการจัดมาตรการช่วยเหลือไม่ว่ามาตรการสถาบันการเงินภาครัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) มาตรการผ่อนชำระบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการส่งสิ่งของไปช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ระยะยาวหอการค้าภาคใต้มีข้อเสนอ 5 มาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดซ้ำในอนาคต ประกอบด้วย 1.ขอให้บังคับใช้กฎหมายผังเมืองเข้มงวด เพื่อไม่ให้การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างไปกระทบก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังแต่ละพื้นที่ 2.เสนอจัดทำผังน้ำและจัดพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำหรือฟลัดเวย์ เช่น พื้นที่แก้มลิง หรือบึงรับน้ำต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตรได้ด้วย 3.จัดกิจกรรมลดราคาการจัดซื้อสิ่งปลูกสร้างและเครื่องเรือน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 4.ขอให้ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกการเกษตรต่าง ๆ ก็ให้มีการปรับไปสู่การเพาะปลูกเพื่อผลการเกษตรที่เป็นเป้าหมายระยะยาว และ 5.ขอให้จัดแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย