สธ. 20 ธ.ค. – สธ.แจงพบโอไมครอนแล้ว 63 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ มีเพียงรายเดียวที่ติดเชื้อในประเทศ จากสามีนักบิน ชี้จำเป็นต้องยกเลิก Test & Go เพราะพบการติดเชื้อในระบบนี้เพิ่ม 2 เท่า การตรวจ RT-PCR ไม่พอ ต้องใช้กักตัวร่วม 7-10 วัน เตรียมเสนอ ศบค.ให้เหลือ Sandbox และ Quarantine พร้อมเล็งเสนอตรวจ ATK ที่สถานีขนส่งก่อนกลับบ้าน และเดินทางเข้า กทม.พื่อความปลอดภัยในช่วงปีใหม่
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน พบข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วว่า พบอัตราการติดเชื้อในระบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า จึงเตรียมเสนอ ศบค.ให้ยกเลิกระบบ Test & Go ให้คงไว้เฉพาะระบบ Sandbox และ Quarantine เนื่องจากระบบ Test & Go ที่ใช้การตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR ก่อนเข้าไทย 72 ชม. และตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยระบบ RT-PCR ในรอบ 24 ชม. อีก 1 ครั้ง อาจไม่เพียงพอ โดยผลการตรวจหาเชื้อโอไมครอนในระบบ ขณะนี้พบถึง 1 ใน 4 และมีจำนวนทั้งสิ้น 63 คน ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ในจำนวนนี้มีเพียงรายเดียวที่ติดเชื้อจากสามีที่เป็นต่างชาติ และเป็นนักบิน โดยเข้ามาด้วยระบบ Sandbox
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตรวจยืนยันเชื้อโอไมครอน ยังใช้การตรวจหาตำแหน่งพันธุกรรมของเชื้อไวรัสแบบทั้งตัว ดูใน 4 ตำแหน่ง หากตรงกันจึงจะถือว่าติดเชื้อโอไมครอน พบว่าอัตราการแพร่เชื้อของโอไมครอน มีอัตราการแพร่เชื้อถึง 8.45 เท่า ขณะที่เดลตา 6.5 เท่า และพบในประชากรส่วนใหญ่ 90% ส่วนอู่ฮั่น 2.5 เท่า สำหรับอัตราการนอน รพ. ป่วยหนักหรือเสียชีวิตไม่ได้แตกต่างจากเดิม ส่วนการรับวัคซีนเพียง 2 เข็ม อาจไม่เพียงพอ ต้องมีการบูสเข็ม 3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้พบอัตราการผู้ที่เดินทางเข้าไทยด้วยระบบ Test & Go วันละ 1,000 คน พบว่าในเดือน พ.ย. มีผู้เดินทาง 133,061 คน เป็น Test & Go 106,211 คน ติดเชื้อรวม 83 คน คิดเป็น 0.08% ส่วน 1-19 ธ.ค. มีผู้เดินทางเข้าไทยรวม 160,445 คน เป็นระบบ Test & Go 138,181 คน ติดเชื้อ 204 คน หรือคิดเป็น 0.15% เท่ากับว่าอัตราการติดเชื้อจาก Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยพบว่า ประเทศที่เดินทางเข้าไทยมาสุด เยอรมนี 13,102 คน ติดเชื้อ 22 คน สหราชอาณาจักร 11,110 คน ติดเชื้อ 60 คน และรัสเซีย เข้ามา 7,082 คน ติดเชื้อ 29 คน
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอน รายแรกชายอเมริกัน 35 ปี รักษาหายแล้ว ส่วนรายที่พบว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศ แต่เป็นการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คือ นักบินชาวโคลอมเบีย อายุ 62 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวาน รับวัคซีน AZ 2 เข็ม เดินทางมาจากไนจีเรีย และเข้าระบบ Sandbox เข้าไทยมาตั้งแต่ 26 พ.ย. กักตัวครบ และกลับมาอยู่บ้านกับภรรยา หลังตรวจไม่พบเชื้อเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ จ.ปทุมธานี ส่วนภรรยาชาวไทย วัย 49 ปี รับวัคซีน AZ 2 เข็ม สามีที่เป็นนักบินเริ่มมีอาการป่วย 4 ธ.ค. ไข้ ไอ เจ็บคอ และอ่อนเพลีย ระหว่างที่ไม่สบายมีภรรยาดูแล จนเมื่อตรวจพบว่ามีอาการป่วย ก็เข้ารับการรักษาตัวใน รพ. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ส่วนภรรยาเมื่อพบสามีก็ Home Isolation และเมื่อผลตรวจยืนยันพบว่าติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาใน รพ. ในเคสมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ที่รับส่ง และตามตัวพบแล้ว ตรวจผลเป็นลบ และจะตรวจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 22 ธ.ค.นี้
นพ.จักรรัฐ ส่วนเคสติดเชื้อโอไมครอน ในกลุ่มแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย มี 2 เคส เคสแรกเป็นกลุ่มแสวงบุญในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ติดเชื้อโอไมครอน 1 คน และติดเชื้อเดลตา 2 คน จากผู้ร่วมเดินทาง 133 คน โดยรายที่ติดเชื้อโอไมครอนเป็นชายอายุ 36 ปี รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ซิโนแวค 2 และไฟเซอร์ 1 เข็ม
ส่วนอีกเคสเป็นกลุ่มแสวงบุญในพื้นที่ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา กทม. และปทุมธานี รวม 33 คน พบการติดเชื้อรวม 18 คน แบ่งเป็นติดโอไมครอน 6 คน ได้แก่ นนทบุรี 3 คน ปทุมธานี อยุธยา และนครราชสีมา จังหวัดละ 1 คน ส่วนติดเชื้อเดลตามี 8 คน ได้แก่ นนทบุรี 5 คน อยุธยา 1 คน และ กทม.2 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง 13 คน
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการการป้องกันตนเองจากโอไมครอน ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น คือใช้มาตรการแบบครอบจักรวาล คิดเสมอว่าคนรอบข้างเราเป็นคนป่วย เพื่อป้องกันตนเองสูงสุด ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ การรับวัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เพราะหากไม่มีการรับวัคซีนอาจทำให้เจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตเหมือนกันเดลตา เพราะอัตราการแพร่เชื้อของโอไมครอนแพร่เร็ว 1 คน แพร่ได้ 8.45 คน
ทั้งนี้ การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นคือเป้าหมาย เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของประชาชนสูงขึ้น หลังจากการรับวัคซีนไประยะหนึ่งสัก 3 เดือน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลง ฉะนั้นคนที่รับวัคซีนในเข็ม 2 หากครบ 3 เดือนแล้วก็สามารถรับวัคซีนกระตุ้นได้
นพ.จักรรัฐ ระบุทราบว่า รมว.สธ. เตรียมเสนอให้มีการตรวจ ATK ก่อนเดินทางกลับจังหวัดและเข้ากรุงเทพฯ โดยจะให้ตรวจก่อนการเดินทางขึ้นรถทั้งขาไปและกลับ โดยจะให้มีการตรวจที่สถานีขนส่ง ทั้งนี้เตรียมหารือกับคมนาคมเพื่อกำหนดวันอีกครั้ง .- สำนักข่าวไทย