กรมอนามัย 18 ม.ค.-กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ เร่งทำความสะอาดบ้าน ลดปัญหาเชื้อราสะสม หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมซ่อมแซมส้วมที่ชำรุดเสียหาย ป้องกันการสะสมของยุง หนู แมลงสาบ ที่เป็นพาหะนำโรค
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลายจังหวัดกลับคืนสู่สภาวะปกติ ประชาชนควรเร่งทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร อาทิ ตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ท ที่ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วงน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นาน จะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราที่สามารถพบได้ หลังน้ำลด ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับการล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน
นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า ประชาชนบางรายอาจตื่นตระหนกกับปัญหาเชื้อราที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกบ้านหลังจากน้ำลด ซึ่งความเป็นจริงแล้วสามารถกำจัดให้หมดไปได้ หากมีการล้างทำความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล เริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง และควรเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นประจำ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอนและเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูก ที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันทีเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
“การจัดการเชื้อราในบ้านทำได้ 3ขั้นตอน คือ1)พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียวแล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 2)ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้งและ3)ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่นน้ำส้มสายชู 5–7เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย