กรุงเทพฯ 15 พ.ย.- พรุ่งนี้มีข่าวดีราคาเอ็นจีวีลดลง 58 สตางค์/กก. ด้าน ปตท.เจรจา ปิโตรนาสนำเข้าแอลเอ็นจี 1 ล้านตัน/ปี ด้าน ปตท.สผ.เชื่อมั่น รัฐบาลจัดประมูลแหล่ง สัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุได้ตามแผนในไตรมาส 3 /60
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า บมจ.ปตท.ประกาศปรับลดราคาเอ็นจีวี ลง 58 สตางค์ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย.) ส่วงผลให้ราคา กรุงเทพฯ ไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่นราคาอยู่ที่ 11. 89 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ราคาก๊าซแหล่งอ่าวไทย ที่ราคาผันแปรตามราคาน้ำมันเตา มีผลย้อนหลัง 6-12 เดือน จึงทำให้ราคาลดลงได้
ด้านผู้ประกอบการ ปิโตรเลียม ต่างหาแนวทางลดต้นทุนรับมือราคาน้ำมันผันผวนอย่างต่อเนื่อง แสดงในการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ ครั้งที่ 10 หรือไอพีทีซี ซึ่ง บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)เป็นเจ้าภาพมีผู้ร่วมงานจาก 50 ประเทศ กว่า 2 พันคนเข้าร่วมงาน โดยผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงบริษัทน้ำมันและก๊าซระดับแถวหน้า เช่น PETRONAS, Woodside Energy และ Schlumberger ต่างชูความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสำเร็จและลดต้นทุน เพื่อช่วยให้บริษัทน้ำมันและก๊าซอยู่รอดในภาวะราคาน้ำมันผันผวน ในขณะที่ประชาชนสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ ที่บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ได้ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย. โดย กลุ่ม ปตท.ได้เข้าร่วมและโชว์เทคโนโลยี ทั้งสายห่วงโซ่อุปทาน เช่น บมจ.ไทยออยล์ใช้หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการบำรุงรักษาระบบท่อของ โรงกลั่นไทยออยล์ ซึ่งได้พัฒนาและนำมาใช้ได้จริง เตรียมให้บริการกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็นต้น
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.กล่าวว่า การที่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันปัจจุบันนั้น แนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดย เทคโนโลยีที่ ปตท.สผ. ที่กำลังพัฒนานั้นจะมุ่งเน้นในด้านการเพิ่มความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียม เช่น ศูนย์การประมวลผลเฉพาะงานคลื่นไหวสะเทือน (Dedicated Processing Center หรือ DPC) เทคโนโลยี Enhance Oil Recovery ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียม และยานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (Autonomous Underwater Vehicle หรือ AUV) โดยในช่วง 2 ปีที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนนั้น ปตท.สผ. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งทำให้ ปตท.สผ.สามารถลดรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายดำเนินงานลงได้ถึง 15-20% ในปี 2559
ส่วนความเสี่ยงหลังสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช จะหมดอายุในปี 2565-2566 นายสมพร เชื่อมั่นว่าการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดประมูลและรับทราบผลที่ชัดเจนในไตรมาส 3 ปี/2560 ตามที่รัฐบาลกำหนด เพราะหากล่าช้าไปกว่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพความต่อเนื่องของกำลังผลิตก๊าซที่มีเกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ของประเทศ
ด้านนายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.(PTT)กล่าวว่าได้เสนอแผนการเข้าร่วมลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการซื้อขาย LNG กับกลุ่มปิโตรนาสของมาเลเซีย ต่อรัฐบาล เบื้องต้นจะนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาว 15 ปีกับปิโตรนาสได้ราว 1 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะนำเข้าได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 ในขณะที่ปีนี้คาดว่าไทยจะต้องนำเข้า LNG ราว 2.9 ล้านตัน และคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ศุกร์นี้ จะมีการพิจารณาให้ ปตท.ขยายการลงทุนการนำเข้าแอลเอ็นจีในคลังแห่งที่ 2 ขยายเพิ่มจาก 5 ล้านตัน/ปี เป็น 7.5 ล้านตัน/ปี เงินลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนในต้นปี 2560 ก็คาดว่าจะสรุปแผนลงทุน โครงการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ(Floating Storage and Regasification Unit:FSRU) ในเมียนมาร์ได้ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนร่วมกันและใช้แอลเอ็นจีร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ -สำนักข่าวไทย