กรุงเทพฯ 17 ธ.ค.- สรรพากรปลอบใจ แผนศึกษาเก็บภาษีซื้อหุ้น ไม่กระทบรายย่อย หลังยกเว้นมาแล้ว 30 ปี
นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายสรรพากรในปัจจุบันกำหนดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1 ของมูลค่าขาย เป็นการเก็บภาษีจาก Financial Transaction Tax จัดเก็บแต่ละรายการซื้อขาย ซึ่งกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้น ตั้งแต่ปี 2534 นับว่าได้รับการยกเว้นมาแล้วถึง 30 ปี เพื่อต้องการส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา
กรมสรรพากรจึงทำการศึกษาภาษีทั้ง 2 ส่วน คือ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) โดยต้องยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ หรืออาจเรียกเก็บภาษีจาก Financial Transaction Tax เพื่อรองรับแผนการปฏิรูปภาษี เพราะเห็นว่าหลายประเทศเรียกเก็บภาษีทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศเรียกเก็บเพียงอย่างเดียว ต้องรอให้กระทรวงการคลังสรุปแนวทางให้ชัดเจน
กรมสรรพากร ยังยืนยันว่า หากตัดสินใจจัดเก็บภาษีจากนักลงทุน ยอมรับว่า นักลงทุนรายย่อยร้อยละ 80 ไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะขายหุ้น 1 ล้านบาท จึงจัดเก็บภาษี 1,000 บาท สรรพากรจึงได้ศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีจาก 3 กลุ่ม คือ 1. นักลงทุนรายย่อย ขายหุ้นไม่เกิน 1 ล้านบาท/เดือน 2. กลุ่มขายหุ้นไม่เกิน 2 ล้านบาท/เดือน และ 3. กลุ่มขายหุ้นตั้งแต่ 2 ล้านบาท/เดือนขึ้นไป เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากกระทรวงการคลังได้ข้อสรุป เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าเริ่มมีผลบังคับใช้ปีหน้า ขณะที่นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นกำลังรอดูความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง เพราะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนและภาวะสภาพคล่องของตลาด.-สำนักข่าวไทย