อสมท 20 ม.ค. – แนะสื่อผลิตรายการตามความต้องการตลาด พร้อมปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้บริโภครับชมรายการผ่านสื่อที่วิ่งผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
สำนักการตลาด บมจ.อสมท จัดสัมมนา “ทางรอดธุรกิจสื่อในยุค Thailand 4.0 หัวข้อ “ทางรอดธุรกิจสื่อในยุค Thailand 4.0?” นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ระบุ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การบริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้การบริโภคสื่อแบบเดิมอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่ออื่น ๆ ลดลง หันมารับชมและใช้สื่อใหม่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย 48 ล้านราย มีบัญชี LINE และ facebook มากกว่า 30 ล้านบัญชี และจากการแข่งขันของสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่รุนแรงนี้ ส่งผลให้ทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลต่อเนื่องไปยังการใช้งบโฆษณา ประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยลดซื้อสื่อเดิม หันไปซื้อสื่อใหม่ ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ องค์กรสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ปรับตัว โดยนำเสนอรายการ ข่าวสารและสาระบันเทิงต่าง ๆ ผ่านสื่อที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ยังคงเป็นเนื้อหาสาระของรายการต่าง ๆ ที่นำเสนอ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์ และโฟกัสให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลักมากที่สุด พร้อมกับทำให้ผู้บริโภคทราบว่าจะเข้าถึงและรับชมสิ่งที่นำเสนอได้อย่างไร เพราะขณะนี้ MY Time คือ เวลาของผู้บริโภคสำคัญที่สุด ส่วนคำว่า Prime Time นับว่าจะมีความสำคัญลดน้อยลงไปทุกขณะ
นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ที่ปรึกษาของ บมจ.เบอรี่ ยุคเกอร์ กล่าวว่า องค์กรสื่อสารมวลชน จำเป็นต้องปรับตัวสู่องค์กรผลิตรายการและสารที่มีคุณภาพจึงจะอยู่รอด ส่วนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคนั้น ประเมินเบื้องต้นว่าในอีก 4-5 ปีนับจากนี้ไปผู้บริโภคจะรับชมข่าวสารและสาระรายการต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยสัดส่วนมากถึงร้อยละ 90 และประเมินว่าอีก 5 ปีข้างหน้าสตรีมมิ่งทีวีจะเข้ามาทดแทนสื่อเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสื่อเดิมอย่างโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ปรับตัวไม่ทัน และอีก 4 ปีข้างหน้าระบบแพร่ภาพโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ตจะปรับเปลี่ยนไปสู่ 4K
นายสรรค์ชัย กล่าวว่า สื่อแบบเดิมจำเป็นต้องนำระบบสตรีมมิ่งรายการผนวกเข้าไปกับระบบเดิม เพื่อนำเสนอข่าวสาระบันเทิงต่าง ๆ ไปยังผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย เพราะแนวโน้มของการนำเสนอแบบ Broadcasting จะไม่มีอีกต่อไป มีแต่ Narrow Broadcasting เท่านั้น ทางรอด คือ Broadcaster ต่าง ๆ จะต้องเน้นผลิตรายการที่มีคุณภาพสูง และพิจารณานำรายการเดิมที่ออกอากาศมาแล้วขายต่อได้ และการบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ควรอยู่ในรูปแบบการร่วมทุนผลิตรายการกับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านลดปัญหาการกีดกันในรูปแบบต่าง ๆ และการผลิตรายการสำคัญที่สุดจะต้องพิจารณาผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญไม่ใช่ผลิตรายการต่าง ๆ ตามใจตนเอง
นางสาวการดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Casean กล่าวว่า สื่อเดิมอย่างโทรทัศน์จำเป็นต้องปรับตัวไปผลิตสื่อใหม่ ๆ เช่น สื่อบันเทิงที่สามารถรับชมได้สะดวกในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สามารถรับชมรายการต่าง ๆ ในแท็กซี่สะดวก โดยอาจร่วมทุนกับผู้ประกอบการหรืออาจปรับตัวสู่การเป็นสื่อที่ทำหน้าที่ ยืนยันความถูกต้องของข่าวสารต่าง ๆ ที่ออกมา เพราะปัจจุบัน มีการเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ ออกมาจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่จริงและไม่จริง แต่ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจริงและถูกต้องหรือไม่.- สำนักข่าวไทย