ทำเนียบ 26 พ.ย.-นายกฯ ย้ำกลไกพหุภาคีบนพื้นฐาน 3 M เป็นแนวทางสำคัญของยุค Next Normal
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) และกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ในประเด็นอาเซมและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งระดับโลก และภูมิภาค โดยได้เน้นย้ำในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองภูมิภาค 2) การส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียว 3) การส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ASEM ควรปรับตัวไปพร้อมกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนขึ้น ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก
สมเด็จพระราชาธิบดี แห่งบรูไนฯ กล่าวถึงแนวคิดหลักของ ASEM ที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกในการรับมือ COVID – 19 ในด้านการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ทางเศรษฐกิจ และประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งสำคัญคือ ต้องส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี ร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ร่วมกันปกป้องสันติภาพเพื่อเสถียรภาพ
นายกรัฐมนตรีจีน ได้กล่าวถึงการประชุมฯ ครั้งนี้ ว่าเป็นโอกาสให้ผู้นำได้แบ่งปันมุมมองต่อความร่วมมือในระบบพหุภาคี และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ASEM เป็นการประชุมใหญ่ระหว่าง 2 ภูมิภาค ที่มีประวัติศาสตร์ มีความร่วมมือกัน มีการส่งเสริมการธำรงไว้ซึ่งความหลากหลาย การรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานกติกา ซึ่งจะร่วมกันรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะโควิด-19 ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทาน จึงต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าเสรี ในโอกาสนี้ ยืนยันว่าจีนมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยระบุว่า โลกต้องบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ประการ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อบริหารการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค Next Normal และป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตที่สร้างผลกระทบรุนแรง และสร้างสมดุลในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก อาเซม ถือเป็นเวทีที่สามารถหารือเพื่อลดความขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎกติการะหว่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงขนาดพื้นที่หรือขนาดเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การหารือพหุภาคีบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมภายใต้หลักการ 3 M ได้แก่ Mutual Trust, Mutual Respect, และ Mutual Benefit ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จำเป็นสำหรับยุค Next Normal
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก อาเซม ควรสนับสนุนการรักษาสภาพภูมิอากาศที่สมดุล โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสีเขียว การสนับสนุนกลไกทางการเงินสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบไม่ทำลายระบบนิเวศ ตามที่ได้กล่าวในการประชุม COP 26 ที่ผ่านมา และจะนำมาเป็นวาระหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี พ.ศ. 2565 ของไทย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งสองประการล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ เราต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำของเราตอนนี้ ก่อนที่ภัยพิบัติที่ร้ายแรงจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง พร้อมขอให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ร่วมปรับสมดุลโลก เพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคน.-สำนักข่าวไทย