ม.รามฯ 24 ม.ค.-ผู้ประกอบการหอพักนักศึกษา พร้อมปรับตัวพัฒนาคุณภาพตามตามพ.ร.บ.หอพักใหม่ ขณะที่ภาครัฐเร่งผลักดันกฎหมายลูกเพื่อให้พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้สมบูรณ์โดยเร็ว
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในการจัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางการบริหารจัดการหอพัก ภายใต้พ.ร.บ หอพัก ฉบับใหม่” ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี2558 ว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบหอพักนักศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการหอพักติดดาว ที่ดำเนินการมา 8 ปีแล้ว มีหอพักร่วมและจดทะเบียนมากที่สุดในเขตบางกะปิ โดยเมื่อมี พ.ร.บ.หอพักฉบับใหม่ประกาศใช้ ก็ได้ประสานกับผู้ประกอบการ ให้พัฒนาคุณภาพหอพักให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.หอพักฉบับใหม่นี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้นักศึกษา และผู้ปกครอง
นายณรงค์ จันทร์บูรณะพินิจ นักพัฒนาสังคม กรมกิจการเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.หอพักใหม่ ตัองการให้หอพักเป็นบ้านหลังที่สองของและเพื่อต่อการเรียนหนังสือ สาระสำคัญหลักๆ เน้นจัดการหอพัก สำหรับเด็กนักเรียนนักศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกิน25ปี ต้องจดทะเบียนหอพัก แยกหอพักชายหญิง ห้ามบุคคลอายุเกิน25ปีพักร่วม กำหนดเวลาเปิดปิดหอพักชัดเจน ตัองทำประกันภัยในกรณีเกิดไฟไหม้และกำหนดเก็บค่าเช่าล่วง หน้าไม่เกิน 3เดือนและต้องพักอาศัยตามเวลาที่ตกลงเช่าชัดเจน เป็นต้น
หากผู้ประกอบการไม่จดทะเบียนหอพักถูกต้องจะมีโทษเพิ่มขึ้นจากเดิมจำคุกไม่เกิน 6 เดือนเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับสูงสุดกากไม่เกิน 2000 บาทเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทและหากไม่ทำประกันภัยจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
ทั้งนี้ หลัง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ช่วงแรกๆผู้ประกอบการ บางส่วนได้อาจไม่เห็นด้วย และไม่เข้าใจบ้างโดยเฉพาะเรื่องการทำประกันภัยซึ่งมองว่า เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่หลังจากใช้มาระยะหนึ่ง ผลปรากฎว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่พอใจ และสามารถลดปัญหาสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเด็กใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ใน ช่วงเรียนหนังสือและป้องกันปัญหาความรุนแรงอื่นๆรวมทั้งยาเสพติดที่เห็นผลมากขึ้น โดยขณะนี้กำลังเร่งผลักดันกฎหมายลูกซึ่งอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาเพื่อให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด
ตัวแทนผู้ประกอบการหอพักนายสนิท หอมจันทร์ ผู้จัดการหอพัก Numbers วันซึ่งมีห้องพักที่ดูแลประมาณ 4,000 ห้องและเข้าร่วมโครงการหอพักนักศึกษาประมาณ 300 ห้อง กล่าวว่าขณะนี้ผู้ประกอบการที่ใบอนุญาตหมดอายุตามกฎหมายเดิมได้ไปยื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนตามกฏหมายใหม่กับทางกทม. เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตในขณะนี้เนื่องจากกฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จแต่ก็สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งภาพรวมของการปรับมาตรฐานตามกฏหมายใหม่ซึ่งมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักมาเป็นพี่เลี้ยง เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ทำตามกฎระเบียบจะได้รับพิจารณาลดหย่อนภาษี และได้รับการรับรองเป็นหอพักที่ดีทำให้มีผู้ปกครองไว้ใจและส่งบุตรหลานเข้าพักอาศัยเต็มเกือบทั้งหมด ส่วนเรื่องการทำประกันภัยก็ไม่ได้เป็นภาระหนักอย่างที่กังวลเพราะมีต้นทุนเพียง 24 บาทต่อหัวต่อปีเท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบจำนวนหอพักที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 13,000 ห้องเป็นหอพักในกรุงเทพฯ ประมาณ 1,300 ห้อง และคาดว่ามีหอพักที่ไม่ได้จดทะเบียนรวมทั้งหมดประมาณ ถึง 60,000 ห้อง.-สำนักข่าวไทย