น่าน 27 ม.ค.-3 อำเภอใน จ.น่าน ที่เป็นภูเขาหัวโล้นเริ่มกลับมามีป่าอีกครั้ง จากการใช้ดอยตุงโมเดล การปลูกป่าตามแนวพระราชดำริของสมเด็จย่า และในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง นอกจากเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่ายังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
พื้นที่ป่ากว่า 40,000 ไร่ ของบ้านน้ำช้างพัฒนา ต.ขุนน่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิปิดทองหลังพระ เข้ามาจัดสรรป่าร่วมกับชาวบ้าน และปลูกป่าตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เช่น การปลูกป่าอนุรักษ์อย่างประดู่ มะค่า ป่าเศรษฐกิจ และป่าใช้สอย เช่น ไผ่ และหวาย ในโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย
เดิมพื้นที่นี้เป็นภูเขาหัวโล้น มีการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด คนนี้เคยทำไร่เลื่อนลอย มูลนิธิใช้ดอยตุงโมเดล ที่ทำสำเร็จที่เชียงราย มาขยายผลที่นี่ ปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร และปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น มะม่วงหิมพานต์ และกาแฟ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากพัฒนาพื้นที่ป่าน่าน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ยังเข้ามาพัฒนาดิน การทำการเกษตร ปศุสัตว์ และเพิ่มแหล่งน้ำ การจัดการป่าภายในพื้นที่นี้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจะใช้วิธีการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชน และให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ อย่างเช่นการสร้างฝายบ้านน้ำช้างพัฒนาแห่งนี้
ฝายบ้านน้ำช้างพัฒนา ในอดีตเป็นฝายเกษตรที่สร้างขึ้นจากไม้ มีข้อมูลว่าในแต่ละปีต้องใช้ไม้ถึง 5,000 ต้น เพื่อซ่อมแซมฝายที่ชำรุด แต่เมื่อมูลนิธิสนับสนุนให้สร้างฝายปูน จึงลดการตัดไม้ไปได้มาก
ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ บอกว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ป่า คือ การปลูกคน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จย่า คือ ป่าที่ปลูกต้องทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จะได้เกิดความหวงแหนและรักษาป่า และพื้นที่ปลูกป่าต้องกำหนดขอบเขตร่วมกัน ทั้งเจ้าหน้าที่ และชาวบ้าน ที่ผ่านมาเริ่มโครงการในจังหวัดน่านไปแล้ว 3 อำเภอ คือ ท่าวังผา สองแคว เฉลิมพระเกียรติ
6 ปีที่มีพัฒนาพื้นที่และพัฒนาคนตามแนวพระราชดำริของสมเด็จย่า และในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างต่อเนื่อง มีการเก็บข้อมูลเศรษฐกิจต่อครัวเรือน พบว่าชาวบ้าน อ.ท่าวังผา สองแคว และเฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว และมีพื้นที่ป่า ทั้งป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์แล้วกว่า 90,000 ไร่ หรือเกือบครึ่งของพื้นที่ 3 อำเภอ.-สำนักข่าวไทย