สามเสน 30 ม.ค.-ประธาน กรธ.ชี้รัฐธรรมนูญเน้นพัฒนาด้านการศึกษา 2 ด้าน คือหนุนให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ถนัดและเด็กระดับก่อนวัยเรียนได้เรียนฟรี แนะพัฒนาครูควบคู่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพขึ้น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เป็นประธานงานสภาการศึกษาเสวนา(OEC Forum)ครั้งที่15 เรื่องรัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ที่สภาการศึกษาจัดขึ้นเพื่ออภิปรายถึงบทบัญญัติการศึกษาตามรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทยเเละตอบข้อซักถามตามมาตรารัฐธรรมนูญ โดยนายมีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในส่วนการศึกษา เน้น 2 เรื่องใหญ่คือ กำหนดคุณลักษณะของเด็กที่พึงประสงค์หรือการปั้นเด็ก ตามมาตรา 54 วรรคสี่ วางหลักไว้ว่า การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนเเละมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมเเละประเทศชาติ สิ่งสำคัญคือต้องให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ถนัดหรือที่อยากเรียน จะบังคับให้เด็กทุกคนเรียนเหมือนกันไม่ได้ อีกทั้งสังคมผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่าลูกต้องเดินตามทางที่ตนกำหนด พ่อแม่จึงต้องเปลี่ยนความคิดด้วย
ส่วนเรื่องที่2 คือการสนับสนุนจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 54 วรรคแรกคือรัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แม้ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้เพิ่มบทบัญญัติเพื่อครอบคลุมให้เด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้รับการศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยเพราะนักวิชาการวิจัยข้อมูลพบว่าเด็กแต่ละคนเกิดมาสมองหรือระดับความรู้ไม่เท่ากัน จึงต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้น โดยการศึกษานั้นต้องให้เด็กได้ตระหนักถึงการเรียนรู้มีต้องมีความรู้พื้นฐาน และต้องเสริมคุณลักษณะให้เด็กเป็นผู้ใฝ่รู้ตลอดชีวิต
นายมีชัย กล่าวต่อว่า นอกจากพัฒนาเด็ก ส่วนสำคัญต่อมาที่ต้องคำนึงคือครู เพราะครูดีจะทำให้การศึกษามีคุณภาพ แต่ปัจจุบันพบว่าครูที่ตั้งใจจะสอนและพัฒนาเด็กมีจำนวนไม่มากนัก เพราะภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น เพราะจากกลไกที่กระทรวงศึกษาธิการสร้างเพื่อให้ครูมีความก้าวหน้า ทั้งทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยาฐานะ แต่กลับไม่ได้พัฒนาความสามารถครูได้จริง ทั้งมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูก็พยายามเคี่ยวเข็ญด้านวิชาการ แต่ไม่มอบจิตวิญญาณของความเป็นครูให้กับเด็ก สำนักงานคุรุสภาจึงต้องไปดูแลครูเพื่อให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้ายว่าเพื่อให้ครูและเด็กได้รับการพัฒนากระทรวงศึกษาฯจึงต้องบริหารงานกันแบบไม่มีแท่ง จากเดิมเป็นรูปแบบ 14 องค์ชายกลายมาเป็น 5 แท่งก็ยิ่งควบคุมยาก ต่างคนต่างทำงาน ซึ่งความจริงควรมีระบบคิดสั่งการและควบคุมเพียงหน่วยเดียว แล้วค่อยแบ่งไปตามความถนัดของแต่ละองค์ ก่อนเพื่อพัฒนาเด็ก โดยระหว่างนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศกำลังไปวิเคราะห์ว่าโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันมีอุปสรรคหรือไม่ หากมีอาจจะต้องมีการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขต่อไป.-สำนักข่าวไทย