กทม. 12 ต.ค.- “นพ.เรวัต”เห็นว่าการที่ นายกฯ ประกาศเปิดประเทศ แค่ลดแรงกดดันทางการเมือง-เศรษฐกิจ
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีคำแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตรียมเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า ตนสนับสนุนการเปิดประเทศ แต่ต้องอยู่บนความพร้อม และความนิ่งของสถานการณ์ระบาด ไม่ใช่ประกาศเพราะอยู่บนความกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือต้องการพูดเพื่อแก้ไขความตกต่ำทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งตนมองว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดนั้น เพราะต้องการรักษาภาพ รักษาความเชื่อถือของรัฐบาลที่เคยประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120วัน
“ผมเคยถามถึงแผนการเปิดประเทศในสภาฯ และอีกหลายครั้งผ่านสื่อต่างๆ แต่รัฐบาลไม่เคยมีคำตอบให้ ดังนั้นเชื่อว่าการเปิดประเทศที่บอกไว้ก่อนนั้นนั้นไม่มีแผนรองรับ ส่วนที่บอกจะเปิดประเทศอีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์ระบาดยังไม่นิ่งพอที่จะเปิดประเทศ ส่วนวัคซีนที่บอกตัวเลข แต่เป็นตัวเลขในอากาศ ไม่มีอยู่ในมือจริงๆ เป็นแค่คำโฆษณาเท่านั้น ทั้งนี้คนไทยอยากรู้ว่าวัคซีนที่มีอยู่จริงเท่าไร และจะปักบนแขนประชาชนได้กี่คน และเร็วที่สุดได้เมื่อไร ทั้งนี้ยังพบว่าตัวเลขคนที่นอนรักษาตัว ที่มาถึง 80% คือ คนมีโรคกลุ่มเสี่ยง คนสูงอายุ หญิงมีครรภ์ ดังนั้นหากจะจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคที่มีประสิทธิ ควรให้กลุ่มดังกล่าวสูงที่สุดก่อน” นพ.เรวัต กล่าว
นพ.เรวัต กล่าวด้วยว่า สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีอัตราสูง รัฐต้องเร่งเข้าไปจัดการและแก้ไขโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ศบค. ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความมั่นคงมีความผิดพลาดต่อการแก้ปัญหา ทั้งที่ควรเร่งซีลพื้นที่ 3 จังหวัดชายภาคใต้ ที่พบสถิติว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละพันราย และพบการติดเชื้อทั้ง 3 สายพันธุ์ รวมถึงตัวเลขการตรวจด้วย ATK ยังพบผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมาก ดังนั้นสถานการณ์การระบาดของประเทศยังไม่น่าไว้วางใจ แต่การประกาศเปิดประเทศอีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์ คือ การแก้ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความน่าเชื่อถือ ซึ่งตนมองว่าอาจเป็นการสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับประชาชน เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกว่าจะอยู่อีกไม่นาน แต่ขณะนี้อยู่มาแล้ว เกือบ 8 ปี
นพ.เรวัต กล่าวถึงกรณีของการเสนอ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการทูลเกล้าฯ และมีแนวโน้มว่าจะเสนอต่อรัฐสภาในรูปแบบของการแก้ไขพ.ร.บ. ว่า ตนสนับสนุน เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติช่วยดูรายละเอียดให้เกิดความรอบคอบ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้รัฐสภาพิจารณาโดยยกชั้นเป็นกฎหมายปฏิรูปนั้น อาจเป็นเพราะรัฐบาลต้องการให้สิทธิส.ว. 250คนร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มั่นใจเสียงสนับสนุนในสภาฯ ที่จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว.สำนักข่าวไทย