กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จึงขอแจ้งให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการคำนวณภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะช่วยให้ผู้มีเงินได้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีแต่ละเดือนลดลง ส่งผลให้มีเงินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ขณะที่ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ เพิ่มเป็น 60,000 บาท สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็น คนละ 30,000 บาท บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน อย่างไรก็ตาม หากมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน หากบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมเกิน 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องไม่เกิน 3 คน
ส่วนกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท
การปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ปรับปรุงใหม่ |
|
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
1 – 300,000* | 5 |
300,001 – 500,000 | 10 |
500,001 – 750,000 | 15 |
750,001 – 1,000,000 | 20 |
1,000,001 – 2,000,000 | 25 |
2,000,001 – 5,000,000 | 30 |
5,000,001 ขึ้นไป | 35 |
ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ยังคงสามารถใช้ต่อไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
นอกจากนี้ ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้ กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว หากผู้มีเงินได้เป็นโสดต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 220,000 บาท กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน หากผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 60,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เกิน 120,000 บาท การปรับปรุงดังกล่าวให้ใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2561.-สำนักข่าวไทย