กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการสำรวจศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส.จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศในหัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” ระหว่างวันที่ 19 – 30 ธันวาคม 2559 พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 82.86 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพึงพอใจ ประกอบกับผลจากนโยบายช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลผ่านมาตรการของ ธ.ก.ส. เช่น โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/2560 โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิต (ไร่ละ 1,000) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ชาวนามีความสุขได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชนและประชาชนร่วมกันช่วยชาวนาจำหน่ายข้าวในตลาดท้องถิ่นและตลาดออนไลน์ สื่อสังคม (Social Media) เปิดพื้นที่หลายแห่งให้ชาวนานำข้าวไปจำหน่ายหรือซื้อขาดไปขายต่อทำให้เกษตรกรมีระดับความสุขเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการเพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2559 เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือช่วงเดือนธันวาคม 2559 ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายเพียงพอในการดำรงชีวิต ทำให้ระดับความสุขของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (สำรวจระหว่างวันที่ 16 – 30 ตุลาคม2559)
ทั้งนี้ การสำรวจความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกตามมิติตัวชี้วัดความสุข 6 มิติ พบว่า มี 5 มิติที่คะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ มิติครอบครัวดี (คะแนนเฉลี่ย 88.07) มิติสังคมดี (คะแนนเฉลี่ย 85.45) มิติสุขภาพดี (คะแนนเฉลี่ย 85.23) มิติการงานดี (คะแนนเฉลี่ย 81.50) และมิติใฝ่รู้ดี (คะแนนเฉลี่ย 80.21) สำหรับมิติสุขภาพเงินดี (คะแนนเฉลี่ย 74.99) มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ พบว่า มิติตัวชี้วัดความสุขทั้ง 6 มิติ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนทุกมิติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามิติตัวชี้วัดความสุขย่อยแต่ละมิติ พบว่า มิติย่อยในมิติครอบครัวดีเรื่องการมีความสุขกับครอบครัว เป็นมิติที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 89.89) เกษตรกรมีความสุขและความพอใจในการได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรให้ความสำคัญมากที่สุด
ด้านมิติย่อยในมิติสุขภาพการเงินดีเรื่อง การคิดอย่างรอบคอบก่อนการใช้จ่ายเป็นมิติที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุดจากการสำรวจครั้งก่อน เนื่องมาจากเกษตรกรมีการพิจารณาการใช้จ่ายอย่างถี่ถ้วนและระมัดระวังในการใช้จ่าย วางแผนเตรียมการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้าแสดงให้เห็นถึงทักษะทางการเงินของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น นับเป็นผลจากการดำเนินโครงการให้ความรู้ทางการเงินกับเกษตรกร( Financial literacy) อย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันของ ธ.ก.ส. ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยระดับความสุขโดยรวมของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น .-สำนักข่าวไทย